xs
xsm
sm
md
lg

แพ็กเกจของขวัญปีใหม่ “ศักดิ์สยาม” ช่วยค่าครองชีพ- ทางด่วนลด10%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากนโยบายลดค่าครองชีพระบบขนส่งสาธารณะของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ประกาศกร้าวเมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีป้ายแดงเมื่อ 31 ก.ค.2562 ว่าจะต้องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมขีดเส้นตายการบ้านเหล่านี้ ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการภายใน 3 เดือน

ก้าวเข้ามาสู่ช่วงสุดท้ายของปี ตรวจการบ้านกันยกใหญ่สำหรับนโยบายที่ได้รับมอบหมายไป แว่วว่านโยบายลดค่าครองชีพเพื่อประชาชน ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถึงคราวใกล้คลอดเต็มที ประจวบเหมาะที่จะเป็นของขวัญปีใหม่จากกระทรวงคมนาคม มอบให้กับประชาชน อยู่ระหว่างเตรียมประกาศอย่างเป็นทางการ โดยจะนำร่องเป็นแพ็คเกจทั้งปรับลดค่าผ่านทางทางพิเศษ (ทางด่วน) และค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลากสี

โจทย์การบ้านของมาตรการปรับลดค่าครองชีพประชาชนครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเน้นย้ำด้วยว่า “จะต้องไม่มีเงื่อนไขเวลา” รวมทั้ง “ประชาชนต้องได้ประโยชน์ทั่วถึง” และ “ต้องไม่กระทบสัญญา จนเป็นข้อพิพาทภายหลัง”

ประเดิมความพร้อมของระบบขนส่งรายแรก นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ออกมาระบุว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษารูปแบบที่จะสามารถปรับลดค่าครองชีพประชาชน จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตนได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ และในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ฝ่ายบริหารจะเสนอรูปแบบการปรับลดค่าผ่านทางทางด่วน ให้กับคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณา

สำหรับมาตรการดังกล่าว จะเป็นปรับลดค่าผ่านทางให้ผู้ถือบัตร Easy Pass 10% จากอัตราปกติ หรือเฉลี่ยประมาณ 5 บาท โดยจะปรับลดรวม 6 ด่าน บน 2 ทางด่วน ได้แก่ สายเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และสายศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ตลอดทั้งวัน แบบไม่มีเงื่อนไขเวลา จากเดิมเคยเสนอไปจะปรับลดเฉพาะช่วงเวลา 04.00-07.00 น. เท่านั้น

หากบอร์ด กทพ.พิจารณาอนุมัติ มาตรการลดค่าครองชีพดังกล่าวก็จะสามารถประกาศใช้ได้ทันทีในวันที่ 27 ธ.ค.2562 ซึ่งรูปแบบที่ฝ่ายบริหารของ กทพ.เสนอให้พิจารณาครั้งนี้ ถือเป็นรูปแบบที่ถูกปรับเปลี่ยนมาเดิมที่เคยเสนอมา เพราะรูปแบบเดิม มีการกำหนดช่วงระยะเวลาของการปรับลดค่าผ่านทาง แต่เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายว่า เมื่อมีการปรับลดค่าผ่านทางเพื่อประชาชนแล้ว ก็ควรมีความเท่าเทียม ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้อย่างทั่วถึง

ส่งผลให้รูปแบบของการปรับลดค่าผ่านทางของ กทพ.ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการปรับลดค่าผ่านทางแบบไม่มีเงื่อนไขเวลา โดย กทพ.จะปรับลดค่าผ่านทาง Easy Pass ทั้งวัน รวมทั้งจะปรับลดตลอด 7 วัน และทดลองก่อนเป็นระยะเวลา 30 วัน หลังจากนั้นจะประเมินผล และนำไปขยายผลเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับมาตรการปรับลดค่าผ่านทางนี้ กทพ.มีการประเมินว่าจะสูญเสียรายได้ราว 18 – 19 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากข้อเสนอเดิมที่จะสูญเสียรายได้เพียง 3.3 ล้านบาทต่อเดือน แต่ก็จะไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ กทพ.เนื่องจากสามารถนำดอกเบี้ยที่อยู่ในวงเงินบัตร Easy Pass มาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ โดยปัจจุบัน มีสมาชิกบัตร Easy Pass จำนวน 1 ล้านบัญชี และมีประชาชนใช้บริการ Easy Pass อยู่ราว 1 แสนคันต่อวัน

นอกจากการปรับลดค่าผ่านทางที่ กทพ.ออกมาแอคชั่นรับนโยบายลดค่าครองชีพประชาชนแล้ว กรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะหน่วยงานผู้บริหารจัดเก็บค่าผ่านทางส่วนของมอเตอร์เวย์อีกหลายสาย ก็อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล ว่าการปรับลดราคาค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ ลงอีก 5-10 บาท จะมีผลกระทบกับรายได้ที่จะเข้ากองทุนมอเตอร์เวย์หรือไม่ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยหากผลการวิเคราะห์พบว่าไม่มีผลกระทบ น่าจะเริ่มลดราคาค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ได้หลังช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563

เช่นเดียวกับค่าผ่านทางของ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทลล์เวย์ ที่เตรียมจะจัดโปรโมชั่นส่วนลดค่าให้แก่ผู้ใช้ทาง ซึ่งเกิดจากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่มอบหมายให้ ทล.ไปหารือร่วมกับบริษัท ทางบกระดับดอนเมืองฯ และเห็นพร้อมที่จะเข้าร่วมนโยบายลดค่าครองชีพประชาชน เบื้องต้นจะจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลด 5% สำหรับการซื้อในลักษณะของคูปอง

การขับเคลื่อนโยบายลดค่าครองชีพ ระบบขนส่งมวลชน ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมประชุมบอร์ดในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณารูปแบบปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งจะจัดทำตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดวันทั้งวัน ไม่ใช่ลดเฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) เหมือนที่เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ โดยหากบอร์ดเห็นชอบ ก็จะเริ่มทดลองเป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม 25 ธ.ค.นี้

โดยมาตรการลดค่าโดยสารของ รฟม.ที่เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ กำหนดเก็บค่าโดยสารในอัตรา14- 20 บาท ลดลงจากเดิมที่จัดเก็บ 14 – 42 บาทต่อเที่ยว สำหรับบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางแบบ 30 วัน เพื่อใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และ/หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) จากเดิมการเดินทางเชื่อม 2 สาย มีอัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด 70 บาทต่อเที่ยว

ทั้งหมดล้วนเป็นการขับเคลื่อนนโยบายลดค่าครองชีพระบบขนส่งมวลชน ภายใต้บังเหียนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะลดค่าผ่านทาง รถค่าโดยสารรถไฟฟ้า จะน้อยหรือมากเพียงใด ถือเป็นความตั้งใจมอบ “ของขวัญเพื่อประชาชน”











กำลังโหลดความคิดเห็น