xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” คลอด 4 มาตรการรับมือสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี เม.ย. 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศถกภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคลอด 4 มาตรการรับมือสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี เม.ย. 63 เผยจะช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน การหาตลาด ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้สินค้า พร้อมเร่งตามหา SMEs กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ช่วยเหลือหลังตามกลุ่มใหญ่เจอหมดแล้ว ส่วนยอดใช้สิทธิเอฟทีเอและจีเอสพี 11 เดือน ปี 62 มีมูลค่ากว่า 6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.14%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมฯ ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในกลุ่มสินค้า 573 รายการ ที่สหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในเดือน เม.ย. 2563 เช่น อาหารปรุงแต่ง เซรามิก เคมีภัณฑ์ เครื่องหนังฟอก กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเหล็ก เป็นต้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อที่จะได้รับทราบข้อมูลผลกระทบและความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชนที่อยากจะให้ภาครัฐช่วยเหลือแล้ว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิจีเอสพี

“กรมฯ ได้ตามกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เจอหมดแล้ว มีกลุ่มที่กังวลกับไม่กังวลเรื่องถูกตัดจีเอสพี แต่กลุ่มเล็กๆ อย่างผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ SMEs ยังไม่ค่อยเจอ ยังไม่ออกมา เพราะตอนนี้เขายังส่งออกได้ ยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะสหรัฐฯ ยังไม่ตัดจีเอสพี แต่พอถึงเวลาตัด ตอนนั้นก็จะรู้ว่าตัวเองได้รับผลกระทบ กรมฯ จึงต้องทำหน้าที่ ต้องตามหาให้เจอ แล้วหาทางช่วยเหลือ ช่วยรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น” นายกีรติกล่าว

สำหรับมาตรการรองรับการถูกตัดจีเอสพีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นกำหนดไว้ 4 แนวทาง คือ 1. ด้านการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เช่น อาจจะลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น 2. ด้านตลาด เช่น เร่งทำข้อตกลงทางการค้าโดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อให้ผู้ส่งออกมีตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ สนับสนุนกิจกรรมการขยายตลาดใหม่ โดยการจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดคณะนักลงทุน นักธุรกิจร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนในลักษณะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการเข้าสู่ตลาดใหม่ 3. ด้านการอำนวยความสะดวก เช่น ลดต้นทุนการผลิต ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และ 4. ด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างนวัตกรรม เช่น ส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) สนับสนุนการนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) สร้างผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมเพื่อเจาะในตลาดสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

ส่วนผลการใช้สิทธิประโยชน์การส่งออกสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และจีเอสพีทุกระบบ ในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 65,642.88 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 75.98% ลดลง 4.14% แบ่งเป็นการใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอมูลค่า 60,790.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.52% เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้า และค่าเงินบาทแข็งค่า โดยอาเซียนมีการใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย และการใช้สิทธิจีเอสพีมูลค่า 4,852.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.44% โดยสหรัฐฯ ใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐ และนอร์เวย์


กำลังโหลดความคิดเห็น