ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงอย่างมาก ก่อให้เกิดประเด็นคำถามตามมามากมาย น้ำโขงลดน้อยลงมากกว่าทุกปี เพราะฝนฟ้าบนลุ่มน้ำโขงตอนบนไม่เป็นใจ หรือจีนไม่ปล่อยน้ำลงมา ฯลฯ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ประเด็นน้ำโขงลดต่ำว่า ทางจีน ประเทศต้นน้ำโขง แสดงความกังวลต่อข้อสงสัยของประชาคมประเทศลุ่มน้ำโขงที่ระบุว่าจีนเป็นต้นเหตุให้แม่น้ำโขงลดต่ำมากเป็นประวัติการณ์
“จีนยังกังวลด้วยว่า สทนช.เองให้ข่าวทำนองว่าเป็นผลกระทบจากเขื่อนจีน สทนช.ได้ตอบกลับไปว่า เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ข้อสมมติฐาน เช่น ปริมาณฝนในลุ่มน้ำโขงน้อยกว่าค่าปกติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งอาจเป็นผลพวงจากการปิดกั้นเขื่อนไม่ให้ระบายลงแม่น้ำโขงของจีน ไม่ได้จำเพาะเจาะจงสมมุติฐานใด”
เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ประเด็นเรื่องนี้จึงเป็นที่มาที่จีนตัดสินใจสนับสนุนร่วมศึกษาต้นเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงลดต่ำกว่าปกติกับประเทศแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
“เป็นการพิสูจน์ว่าแท้ที่จริงแล้วน้ำโขงแห้งเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะทางการจีนเองก็ไม่สบายใจนักที่ชาติอื่นมองว่าเป็นผลจากจีนสร้างเขื่อนและลดการระบายน้ำโขงลงมา”
สำหรับบทบาทของประเทศไทยยังคงวางตัวทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการน้ำแม่โขงตอนล่าง ทั้งจากการเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโขงจากจีน และ สปป.ลาว ปริมาณน้ำฝนในลุ่มน้ำโขงและลำน้ำสาขา เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากแต่เดิมที่ประเทศลุ่มน้ำโขงไม่เคยมีข้อมูลเหล่านี้มาก่อน
ส่วนการจะไปคัดค้านประเทศในลุ่มน้ำโขงก่อสร้างเขื่อน ไม่ว่าเขื่อนกักเก็บน้ำหรือเขื่อนทดน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ไม่มีประเทศใดมีสิทธิไปห้ามการกระทำดังกล่าว เพราะแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศใด ประเทศนั้นย่อมมีอธิปไตยตามข้อตกลง ค.ศ. 1995 สามารถดำเนินการได้ มีเพียงการสะท้อนความกังวลใจได้ หากจะมีการก่อสร้างเขื่อน ดังเช่นที่ สปป.ลาว กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางปิดกั้นลำน้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากเพิ่งเปิดโรงไฟฟ้าจากเขื่อนทำน้ำไชยะบุรีที่ก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำโขงแล้วเสร็จ
“เราทำได้เพียงเสนอความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างหรือกระบวนการบริหารจัดการน้ำโขง หากคิดว่าจะเกิดผลกระทบต่อประเทศลุ่มน้ำโขงด้วยกัน กรณีของเขื่อนหลวงพระบาง เราได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนแถบลุ่มน้ำโขงของไทยต่อการเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และแจ้งความกังวลให้ สปป.ลาว ได้รับทราบ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแบบหรือวิธีการบริหารจัดการเขื่อน และการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม ลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจพยายามเข้ามามีบทบาท ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำโขง ดังนั้นบทบาทของประเทศในลุ่มน้ำโขงจึงต้องสร้างสมดุลในความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้บังเกิดประโยชน์แก่ประเทศลุ่มน้ำโขงเท่าที่จะทำได้
การที่ประเทศไทยประกาศจุดยืนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดการตื่นตัวในการแสวงหาความร่วมมือจากชาติต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะไทยเป็นประเทศกึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงตอนบนกับตอนล่าง โดยที่แม่น้ำโขงไหลผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ไม่อาจก่อสร้างอาคารชลประทานใดๆ ในแม่น้ำโขงได้เลย
“เราเองคงต้องทบทวนแผนการใช้แม่น้ำโขงใหม่ หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปริมาณน้ำฝนในลุ่มน้ำโขงลดลง และคงต้องพิจารณาทบทวนแผนการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขงโดยตรงให้มากขึ้น” เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย