ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในอาการขาดแคลนน้ำตั้งแต่สิ้นฤดูฝน 31 ตุลาคม 2562 เพราะฝนน้อยลงกว่าปีก่อนมาก ทิ้งช่วงต้นฤดู พอปลายฤดูยังตกแถวปลายขอบชายแดนระหว่างประเทศ ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนต่างๆ จึงมีน้อย
เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในอาการป้อแป้ ปริมาณน้ำเก็บกักมีน้อยกว่าทุกปี
เขื่อนภูมิพลมีอัตราการไหลเข้าน้อยที่สุดจนเป็นภาวะปกติกลายๆ อยู่แล้ว เขื่อนสิริกิติ์น้ำดีมาโดยตลอด เช่นเดียวกับเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ แต่ปีนี้ที่เคยดีๆกลับไม่ดี
“สิ้นฤดูฝน 2562 เริ่มต้นฤดูแล้ง 2562/2563 (1 พฤศจิกายน 2562- 30 เมษายน 2563) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงส่งสัญญาณเตือนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้แจ้งเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่สามารถส่งน้ำให้กับภาคเกษตรได้ โดยเฉพาะการทำนาปรัง” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ปริมาณน้ำใช้การในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5,280 ล้านลูกบาศก์เมตร จาก 4 เขื่อนข้างต้น จึงเพียงพอสำหรับใช้อุปโภคบริโภคและไล่น้ำเค็มเป็นหลักเท่านั้น
“ถึงอย่างนั้น เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาก็ยังทำนาปรังกันกว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งไม่มีน้ำพอสนับสนุนแน่นอน เป็นเรื่องที่รัฐบาลอาจต้องตัดสินใจเลือก โดยเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนนาปรังที่ได้รับความเสียหายก็ต้องหามาตรการเยียวยาต่อไป”
สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล และพื้นที่อีอีซี จากข้อมูลของ สทนช. ณ วันที่ 16 มกราคม 2563 พบว่า ใน 3 ลุ่มน้ำหลัง มีการบริหารจัดการน้ำอยู่ในกรอบของแผนคือน้อยกว่า 37 ล้าน ลบ.ม. 45 ล้าน ลบ.ม. และ 46 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ
ในขณะลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำ 1,575 ล้าน ลบ.ม. เกินจากแผนที่กำหนดไว้ที่ 1,433 ล้าน ลบ.ม. หรือเกิน 142 ล้าน ลบ.ม.
น้ำที่เกินไปจากแผน ส่วนหนึ่งมีการดึงจากน้ำที่ระบายลงมาจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ใช้ทั้งอุปโภคและบริโภคและการเกษตร ทำให้น้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับต่ำ จนต้องใช้วิธีการสูบน้ำเข้าไปยังสองคลองซ้ายขวาของเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและตะวันออก แทนระบบแรงโน้มถ่วงตามปกติ
อย่างไรก็ดี ลุ่มเจ้าพระยายังได้รับความช่วยเหลือจากลุ่มน้ำแม่กลอง ในการผันน้ำข้ามแม่น้ำท่าจีนมาผลิตน้ำประปาที่คลองมหาสวัสดิ์ของการประปานครหลวง (กปน.) พร้อมๆ กับการผันน้ำทางหลายเส้นทางลงมาไล่น้ำเค็มที่รุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบางครั้งขึ้นมาถึงจุดรับน้ำดิบสำแล อ.เมืองปทุมธานี สำหรับผลิตน้ำประปาของ กปน. อีกด้วย โดยตั้งตัวเลขสำรองไว้ที่ 500-1,000 ล้าน ลบ.ม. ที่ไม่ส่งผลกระทบการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะเพียงพอ
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ มีความรุนแรงระดับ 2 รัฐบาลจึงจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติขึ้นมารองรับ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ เลขาธิการ สทนช. เป็นรองผู้อำนวยการ และรองเลขาธิการ สทนช. เป็นเลขานุการ โดยประสานสั่งการผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (และกทม.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด (และผู้ว่ากทม.) รับผิดชอบ
“นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รองนายกฯ ลงมาแก้ไขปัญหาก่อนจะบานปลาย หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่านี้ ถึงขั้นวิกฤติระดับ 3 ก็จะยกระดับจัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีนายกฯ เป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคุมสั่งการ และอธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมกำกับปฏิบัติการ”
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำเป็นต้องคุมเข้มเรื่องการใช้น้ำไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากกรอบกติกาที่วางไว้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบวงกว้าง โดยขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกมิติ เพื่อจำกัดผลกระทบ