ชัยนาท - เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบเหตุตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัว ด้านรอง ผอ.ชป.12 ขอเกษตรกรงดสูบน้ำปลูกข้าวนาปรัง ป้องกันระดับน้ำเจ้าพระยาลดต่ำกว่าเกณฑ์
วันนี้ (16 ธ.ค.) จากกรณีเกิดเหตุตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัว ดินสไลด์เป็นทางยาวกว่า 100 เมตร เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงจากระดับกักเก็บกว่า 3 เมตร ทำให้บ้านเรือนประชาชนพังเสียหาย และยังมีบันไดท่าน้ำเขื่อนเรียงหิน บริเวณหน้าวัดศรีมณีวรรณ หมู่ที่ 3 ต.คุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ทรุดตัวพังเสียหายยาวกว่า 10 เมตร
ล่าสุด บ่ายวันนี้ (16 ธ.ค.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลมโนรมย์ พร้อมด้วยนายช่างกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เดินทางไปตรวจดูเขื่อนเรียงหิน หน้าวัดศรีมณีวรรณ และบ้านเรือนประชาชนที่พังเสียหายจากตลิ่งทรุด
โดย นายชาญชาย อารีไทย นายช่างกองควบคุมการก่อสร้าง กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบ พบว่า ความเสียหายของบันไดเขื่อนเรียงหิน ไม่ได้เกิดจากการก่อสร้าง แต่เกิดจากปัญหาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลดลงต่ำมาก ทำให้ค่าระดับน้ำต่างกันดินจึงทรุดตัว โดยตัวโครงสร้างของเขื่อนเรียงหินไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงบันไดทางลงน้ำด้านหน้าที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการต่อไป
ขณะที่เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลมโนรมย์ ได้เดินทางไปตรวจดูบ้านประชาชน จำนวน 2 หลัง ที่หมู่ 3 ต.คุ้งสำเภา ซึ่งได้รับความเสียหายจากตลิ่งทรุด พบว่า วันนี้ตลิ่งทรุดตัวเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน ทำให้พื้นปูนด้านหลังบ้านทรุดตัวลงไปอีก 30 เซนติเมตร เบื้องต้น เจ้าหน้าที่เตรียมบูรณาการหน่วยงานและจิตอาสาเข้าช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของและรื้อหลังคาด้านหลังบ้าน เพื่อลดผลกระทบดินทรุดตัวเพิ่มขึ้น ป้องกันไม่ให้ดึงตัวบ้านทั้งหลังทรุดลงไปในแม่น้ำด้วย
ส่วนความช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เช่น ทำแนวป้องกันตลิ่ง หรือซ่อมแซมบ้านให้ประชาชนนั้น ทางด้านนายชัชวาล จักรศิลป์ รองปลัดเทศบาลตำบลมโนรมย์ เปิดเผยว่า ต้องไปตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้งว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบราชการหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการต่อไป
ด้าน นายเนรมิต เทพนอก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 โดยรับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ วันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และเพื่อการอุตสาหกรรม
โดยระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในปริมาณ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งเจ้าพระยา ปริมาณ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีน้ำเหลือใช้เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ในภาคการเกษตรมีแผนจัดสรรน้ำในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งหากเกษตรกรตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์นำน้ำไปใช้เพาะปลูกก็จะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงลุ่มเจ้าพระยา ลดลงไปกว่าเกณฑ์ที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ซึ่งปริมาณน้ำที่ลดลงยังส่งผลกระทบให้เกิดการทรุดตัวของตลิ่งริมแม่น้ำ
ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำได้ลดลงจากระดับเก็บกัก 16.50 เมตร (รทก.) เหลือ 13.31 เมตร (รทก.) ลดลงไป 3 เมตร 19 เซนติเมตร ซึ่งระดับน้ำที่ลดลงเช่นนี้ จึงส่งผลทำให้ตลิ่งเกิดการทรุดตัว ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการนำน้ำไปใช้เพาะปลูกข้าวนาปรัง ควรจะใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อรักษาระบบนิเวศเป็นหลักก่อน เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยาลดระดับลงไปมากกว่านี้