เหตุต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณฝนตกน้อย จนเขื่อนใหญ่ๆ หลายแห่งกักเก็บน้ำไม่ได้ตามเป้า แต่นอกจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่แล้ว ยังมี "แหล่งน้ำขนาดเล็ก" ที่จะช่วยเยียวยาการขาดแคลนน้ำได้
นายอนุสรณ์ รังสิพานิช รักษาการนักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ให้สัมภาษณ์ว่า ภัยแล้งมักถูกโยงถึงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ความจริงนั้นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางอย่างอ่างเก็บน้ำนั้นมีการบริหารจัดการที่ชัดเจนแล้ว แต่แหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีพื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ ที่ถูกดูแลโดยองค์การบริการส่วนท้องถิ่นหรือชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่มีใครลงไปตรวจวัดปริมาณน้ำในแหล่งดังกล่าวเลย
"เราเลยใช้ภาพดาวเทียมสำรวจว่าตรงไหนเป็นแหล่งน้ำได้บ้าง พบว่าทั่วประเทศมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1.4 แสนแห่ง จากการสุ่มวัดขนาดและความลึกแหล่งเก็บน้ำเหล่านี้พบว่า สามารถเก็บน้ำได้เต็มที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าเขื่อนขนาดใหญ่ แต่โมเดลที่เราใช้ยังไม่แม่นยำนัก จากการคำนวณพบว่ามีน้ำคงเหลือในแหล่งน้ำขนาดเล็กนี้ประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประเทศไทยมีฝนตกทุกปีอยู่แล้ว ถ้าเราใช้ประโยชน์ให้ถูก บริหารจัดการให้ดี จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ แต่ตอนนี้การประเมินของโมเดลยังไม่แม่นยำมาก ถ้าทำได้แม่นยำกว่านี้จะช่วยให้ชุมชนบริหารจัดการน้ำเองได้" นายอนุสรณ์กล่าว
สำหรับแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น นายอนุสรณ์ ระบุว่าเกือบ 100% ยังไม่มีการบริหารจัดการ บางส่วนอาจจะมีการจัดการบ้างแล้ว โดยสิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมคือปริมาตรน้ำที่ใกล้เคียงความจริง ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนบริหารจัดการน้ำเองได้ โดยวางแผนติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำอัตโนมัติตามแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวน 5% ของจำนวนแหล่งน้ำขนาดเล็กทั้งหมด และกระจายให้ทั่วทุกภาค ภาคละประมาณ 2-3 แห่ง
ส่วนปัญหาภัยแล้งนั้น นายอนุสรณ์กล่าวว่าปัจจุบันมีความต้องการน้ำสูงขึ้น จากเมื่อก่อนการปลูกข้าวนาปีจะพึ่งน้ำฝน 80% ของน้ำที่ใช้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันการปลูกข้าวนาปีไม่รอฝน แต่อาศัยน้ำจากชลประทาน ทั้งที่ตามสมควรแล้วควรปลูกข้าวนาปีด้วยน้ำฝน และปลูกข้าวนาปลังด้วยน้ำจากแหล่งน้ำ และบอกด้วยว่าภาคเกษตรนั้นใช้น้ำมาก ซึ่งบางแห่งที่ปลูกข้าวนั่นควรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนจะดีกว่า
นายอนุสรณ์กล่าวว่าปัญหาแล้งนั้นมี 3 รูปแบบ ได้แก่ แล้งอุปโภคบริโภคหรือแล้งน้ำกินน้ำใช้ แล้งอุตุนิยมวิทยาหรือการที่ฝนไม่ตกต่อเนื่อง และแล้งการเกษตรคือไม่มีน้ำสำหรับปลูกข้าว ซึ่งแล้งอย่างหลังนั้นเป็นปัญหาหนักที่แถบริมแม่น้ำโขง และภาคอีสานอีกหลายส่วน หากมีการบริหารจัดการตามแผนจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันพบว่าภาครัฐปล่อยน้ำเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและช่วยไล่น้ำเค็ม แต่กลับถูกดึงไปใช้ในภาคเกษตร ทำให้ส่งน้ำไปไล่น้ำเค็มไม่เพียงพอ
"สำหรับภาคกลางน้ำในเขื่อนภูมิพลของปีนี้มีปริมาณเท่ากับเมื่อปี '58 แต่ปริมาณการปลูกข้าวปีนี้กลับเยอะกว่าปี '58" นายอนุสรณ์กล่าว แล้วบอกอีกว่าปัญหาน้ำปีนี้เกิดจากปีที่แล้วไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ แต่จากแบบจำลองคาดการณ์ว่ากลางปีนี้น่าจะดีขึ้น เพราะไม่อยู่ในภาวะเอลนีโญหรือลานีญา ถ้ารักษาวิกฤตได้ปีหน้าน่าจะดีขึ้น แต่หากปี '63 นี้ฝนยังไม่ตก จะเกิดวิกฤตแล้งจริงๆ ในปี '64 ซึ่งตอนนั้นจะเริ่มมีปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค แต่ปีนี้ยังไม่มีปัญหาดังกล่าว