เลขาฯ สนทช.แจงประชุมอนุ กมธ.จัดการน้ำ รัฐบาลขอความร่วมมือเกษตรกรภาคกลาง-อีสาน งดปลูกข้าวนาปรังช่วงฤดูแล้ง “ประวิตร” สั่ง สทนช.ยก 3 มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาในประเทศหลังน้ำโขงลดฮวบ
วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 2/2562 และการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าจากการคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน พล.อ.ประวิตรได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตามที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้สำรวจพื้นที่ไว้ แบ่งเป็น ในเขต กปภ.22 จังหวัด และนอกเขต 38 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/2563 เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน จำนวน 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่จัดสรรน้ำเกินแผนจำนวน 495 ล้านลูกบาศก์เมตร
“อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร ดังนั้นจึงขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ที่ต้องรับน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ และภาคอีสานในบางพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่ที่ต้องรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเขื่อนมีปริมาณน้ำน้อย”
ขณะที่ลุ่มน้ำภาคตะวันตก จัดสรรน้ำเกินแผนจำนวน 579 ล้านลูกบาศก์เมตร และลุ่มน้ำภาคใต้ จัดสรรน้ำเกินแผน จำนวน 549 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงในฤดูแล้ง โดยสถานการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยมอบหมายให้ สทนช.เร่งดำเนินการใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้การผลักดันและแก้ปัญหาแม่น้ำโขง โดยมาตรการภายในประเทศระยะเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบวิถีประชาชนและการประกอบอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภคบริโภค 2. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัด (ริมแม่น้ำโขง) สร้างการรับรู้การเข้าใจผู้ใช้น้ำภาคการเกษตร และประมงให้รับทราบและ 3. มอบหมายกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการขนส่ง และคมนาคมทางน้ำ รวมถึงมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรมอบหายให้หน่วยงานหาแนวทางเพื่อป้องกันภัยแล้ง และอุทกภัยทางภาคใต้ โดยตองมีการเก็บกักน้ำทุกรูปแบบ ทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน รวมถึงมีการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 อย่างรัดกุมเป็นไปตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งจะต้องรายงานผลมาที่ สทนช.ทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่ง สทนช.จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา พร้อมมอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำ ในวันที่ 9-12 ธ.ค. ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน