แม่น้ำโขงไม่ได้ไหลผ่านเข้ามาในแผ่นดินไทยเลย หากไหลเลียบเป็นเส้นแบ่งพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านผ่านภาคเหนือ และภาคอีสาน 8 จังหวัด
ถึงกระนั้น แม่น้ำโขงก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนไทยริมแม่น้ำโขง ทั้งการเพาะปลูก การประมง การอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว
แต่เมื่อประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่านเข้าไปในแผ่นดิน ลุกขึ้นมาใช้ประโยชน์จากน้ำโขงอย่างจริงจัง เช่น จีนก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนหลายแห่ง สปป.ลาวสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าทางแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งในรูปเขื่อนทดน้ำและเขื่อนกักเก็บน้ำ
แม่น้ำโขงก็เปลี่ยนบริบทเดิมโดยสิ้นเชิง เป็นบริบทใหม่ที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับหลายชาติ รวมทั้งไทย โดยเฉพาะฤดูแล้งที่มาเยือนขณะนี้ที่ระดับแม่น้ำโขงต่ำมากและแห้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวยืนยันว่า ระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างมาก เป็นผลจาก 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการก่อสร้างเขื่อนในจีนและในลาว โดยเฉพาะปริมาณฝนที่น้อยมากในฤดูฝนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ จีนลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงที่กั้นแม่น้ำโขงทำให้ระดับแม่น้ำโขงลดลง โดยให้เหตุผลว่า ต้องการปิดซ่อมระบบเสาส่งไฟฟ้า หลังจากนั้น สปป.ลาวลดบานประตูเขื่อนไซยะบุรีกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำโขง เพื่อเตรียมการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ระดับน้ำโขงลดลงอีก
สปป.ลาวยังมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอีกหลายแห่ง รวมทั้งเขื่อนหลวงพระบางที่จะก่อสร้างหลังจากเขื่อนไซยะบุรีเปิดดำเนินการ
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จีนและไทยเป็นแหล่งปล่อยน้ำท่าลงสู่แม่น้ำโขงในสัดส่วน 17% ใกล้เคียงกัน ในขณะ สปป.ลาวจะมากถึง 40%
ดร.สมเกียรติยอมรับว่า หาก สปป.ลาวก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงของลาวเองก็จะยิ่งสร้างความกังวลให้กับสถานการณ์น้ำของแม่น้ำโขง เท่ากับปริมาณน้ำท่าที่จะปล่อยลงมาสนับสนุนแม่น้ำโขงจะยิ่งน้อยลงไป กระทบต่อประเทศที่อยู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ไม่ว่ากัมพูชาและเวียดนามที่เป็นปลายทางแม่น้ำโขง กระทั่งประเทศไทยด้วย
“สปป.ลาวมีแผนก่อสร้างเขื่อนทั้งในลำน้ำโขงโดยตรง และในลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขง ประเทศที่อยู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างย่อมหวั่นไหวผลกระทบแน่นอน”
เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า สทนช.พยายามพัฒนาข้อมูลการจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงตอนบนกับตอนล่าง และไม่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านพื้นที่ในประเทศ ทั้งนื้ เพื่อให้ประเทศที่อยู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับข้อมูลดังกล่าวสำหรับบริหารจัดการน้ำของตนเอง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือด้วยดีจากจีน และ สปป.ลาว ในการแจ้งการระบายน้ำจากเขื่อนการผลิตกระแสไฟฟ้า
“อย่างตอนนี้ลาวกำลังเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี เราก็ต้องการข้อมูลการเปิด-ปิดเขื่อนเพื่อวางแผนจัดการน้ำล่วงหน้า เพราะอย่างไรก็ต้องกระทบแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะช่วงเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนจีนก็แจ้งว่าพยายามช่วยลดผลกระทบจากเขื่อนอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่วายถูกกล่าวหาติเตียน” ดร.สมเกียรติกล่าว
นี่ขนาดยังเป็นยกต้นๆ ของการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง ในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ ยังนึกไม่ออกว่า แนวรบด้านแม่น้ำโขงจะลงเอยอย่างไร
ที่แน่ๆ สถานการณ์ไม่ดีไปกว่านี้แน่นอน