สามเหลี่ยมทองคำ/เชียงราย - ระดับน้ำโขงแถบสามเหลี่ยมทองคำลดฮวบตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ทำเรือใหญ่ค้างตลิ่งพังเสียหาย..หลังจีนลดปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงเอื้อเรือปฏิบัติการบึ้มแก่งหินเปิดร่องน้ำโขง แถมจ่อสร้างเขื่อนใหม่ใกล้ไทยสุด
ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ลดลงจนต่ำกว่า 2 เมตรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา และล่าสุดสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย ได้ออกประกาศที่ 20/2562 ให้ระมัดระวังการเดินเรือในแม่น้ำโขง
โดยระบุว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงส่งผลกระทบต่อการเดินเรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสารเส้นทางระหว่างเมืองท่ากวนเหล่ย (สป.จีน)-เมืองท่าเชียงแสน, เมืองท่าเชียงของ (ไทย)-เมืองท่าหลวงพระบาง (สปป.ลาว) โดยจะมีบางช่วงที่ต้องระมัดระวังในการเดินเรือมาก ได้แก่ ร่องแสนผี ร่องมองปาเหลียว และร่องตาอ้อ รวมทั้งต้องระมัดระวังโขดหินตลอดเส้นทางการเดินเรือ
ทั้งนี้ ระดับน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลมาจากศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) เขื่อนจิ่งหง เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สป.จีน ลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนห้วงวันที่ 5-6 พ.ย.ที่ผ่านมา เหลือ 836 ลบ.ม./วินาที จากที่เคยระบายน้ำในระดับ 1,200-1,800/วินาที และ 2,000-3,000 ลบ.ม./วินาที เป็นส่วนใหญ่
มีรายงานว่าในการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงรอบนี้มีเป้าหมายลดระดับน้ำโขงเพื่อให้เห็นเกาะแก่งโขดหินมากขึ้น ให้ง่ายต่อการปรับปรุงร่องน้ำเอื้อต่อการเดินเรือสินค้ามากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เมืองเชียงรุ้งหรือจิ่งหง ลงมาถึงเมืองกาหลันป้า-ท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านในแม่น้ำโขงของจีนติดกับพม่าและ สปป.ลาว
ขณะนี้ทางการจีนได้นำเรือวางระเบิดเข้าประจำตามจุดต่างๆ บริเวณเส้นทางเดินเรือในเขต สป.จีน และอาศัยระดับน้ำที่แห้งเข้าไปจัดการกับเกาะแก่งแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้จีนได้อาศัยข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติทำการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขง โดยระยะที่ 1 เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือสินค้าขนาด 100 ตันแล่นได้สะดวกตั้งแต่เมืองท่าซือเหมา มณฑลยูนนาน ผ่านพม่า-สปป.ลาว-ไทย ไปจนถึงแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 890 กิโลเมตร ระยะที่ 2 เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือขนาด 300-500 ตัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2559-2560 เอกชนจีนที่ได้รับสัมปทานให้สำรวจและปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงได้พยายามเข้ามาสำรวจในเขตแดนไทย-สปป.ลาว ด้านเชียงราย เพื่อจะปรับปรุงร่องน้ำ 13 จุด แต่ถูกเครือข่ายภาคประชาชนไทยและองค์กรเอกชนต่อต้านอย่างหนักจนต้องยกเลิกไป แต่ยังคงดำเนินการในจุดอื่นๆ โดยเฉพาะในเขตของจีนเอง
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่านอกจากจะเพื่อการปรับปรุงร่องน้ำโขงแล้ว จีนยังเตรียมการจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเขตเมืองกาหลันป้า เป็นเขื่อนสูง 60.5 เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 155 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นเขื่อนที่อยู่ใกล้กับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มากที่สุดอีกด้วย
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะที่ทางการจีนได้ปรับปรุงร่องน้ำรองรับการขนส่งทางน้ำและเพื่อเตรียมการสร้างเขื่อนใหม่คือเขื่อนกาหลันป้า การเดินเรือสินค้าและท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงยังคงดำเนินต่อไป แต่ระดับน้ำที่ถูกทำให้ลดระดับลงเร็วทำให้เรือใหญ่บางลำค้างตลิ่งหรือกระแทกกันได้รับความเสียหายไปแล้วหลายลำ
สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย รายงานว่า ในปี 2562 จนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีเรือสินค้าที่แล่นในแม่น้ำโขงและเข้าเทียบท่าที่ อ.เชียงแสน 3,832 ลำ เป็นเรือสัญชาติลาวที่เป็นเรือไม้ระวางน้ำหนักประมาณ 150-200 ตัน 2,118 ลำ เรือพม่า 774 ลำ เรือจีน 302 ลำ และเรือไทย 128 ลำ ขณะที่ตลอดทั้งปี 2561 มีเรือเทียบท่า 5,961 ลำ
ขณะที่ศุลกากรเชียงแสนแจ้งว่าปี 2562 นี้มีการส่งออกผ่านท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน 11,681.92 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการส่งออก สปป.ลาว มูลค่ากว่า 5,934.65 ล้านบาท รองลงมาคือพม่า 3,468.53 ล้านบาท และจีน 2,278.74 ล้านบาท ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 583.80 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากจีน 565.26 ล้านบาท สปป.ลาว 18.54 ล้านบาท