เชียงราย - ชี้ระดับน้ำโขงผันผวนสุดในรอบหลายปี แถมแห้งยาวไปถึงหลวงพระบาง “แก่งไก่” เหลือแต่ร่องน้ำกลางโขดหิน จนเรือสินค้าต้องหยุดกันเป็นแถว มีเพียงเรือหางยาวกับเรือท่องเที่ยวกินน้ำตื้นบวกฝีมือคนขับถึงผ่านได้
ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง แถบสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ยังอยู๋ในจุดผันผวนต่อเนื่อง หลังศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้างช้าง (แม่น้ำโขง) สป.จีน ประกาศลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็นช่วงๆ
ล่าสุด วันนี้ (13 พ.ย.) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย ได้วัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว พบว่า ลึก 1.83 เมตร หลังจากเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ลึก 1.90 เมตร วันที่ 11 พ.ย.ลึก 2.04 เมตร วันที่ 12 พ.ย.ลึก 1.88 เมตร
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ล่าสุดศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง เขื่อนจี่งหงของจีนได้แจ้งเพิ่มเติมว่าได้มีการระบายน้ำจากเขื่อนในระดับ 834 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 600 เมตร และจากการที่ตนได้นำเรือกาสะลองคำ 2 นำคณะศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยวออกจากท่าเรือเชียงแสนไปยังเมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว พบว่า ระดับน้ำโขงมีน้อยมาก เรือขนสินค้าของลาวก็หยุดพักกันหมดเหลือเพียงเรือหางยาวที่ยังแล่นไปมาได้อยู่ แต่สำหรับเรือท่องเที่ยวแม้ยังสามารถเดินทางไปได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้บริเวณแก่งไก่ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะแก่งในแม่น้ำโขงติดบ้านแก่งไก่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ ไปจนถึงแก่งผาได อ.เวียงแก่น สุดชายแดนไทย บางจุดตื้นเขินมากเหลือเพียงร่องน้ำระหว่างโขดหินกลางแม่น้ำที่คับแคบเท่านั้น แต่บางช่วงกลับมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีกทำให้เรือสินค้าเกือบทุกชนิดไม่สามารถแล่นผ่านเส้นทางนี้ได้ คงเหลือเพียงเรือโดยสารขนาดเล็กหรือเรือท่องเที่ยวเท่านั้นซึ่งก็ต้องใช้ความชำนาญในการขับเรือผ่านโขดหินและสันดอนทรายต่างๆ ด้วย
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าปีนี้ระดับน้ำโขงขึ้นและลงรวดเร็วหรือผันผวนผิดปกติมากที่สุดในรอบหลายปี สภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติแต่เกิดจากเขื่อนในจีน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาที่มีการลดการระบายน้ำเพื่อระเบิดเกาะแก่งน้ำโขง หรือแม่น้ำล้านช้างในเขต สป.จีน ทำให้น้ำโขงตอนล่างแห้งมาก แม้ว่าจะมีการแจ้งข้อมูลให้คนท้ายน้ำทราบมากขึ้น แต่นั่นไม่ไช่คำตอบ แต่คำตอบคือต้องมีการเจรจาหารือโดยทุกฝ่าย คือ ภาครัฐ กลุ่มทุน กลุ่มคนท้ายน้ำที่้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม
“สภาพปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการอพยพและการวางไข่ของปลาแม่น้ำโขง เพราะเดิมเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะมีมากปลาก็จะขึ้นไปวางไข่ แต่ปรากฏว่าเขื่อนกักน้ำไว้แล้วปล่อยน้ำมาระดับหนึ่ง ทำให้ปลาขึ้นไปวางไข่ตามแม่น้ำสาขาต่างๆ ได้ ขณะที่ฤดูแล้งก็ปล่อยน้ำลงมาอีก ทำให้ไม่มีสันดอนทรายหรือโขดหินให้นกได้วางไข่กลางลำน้ำ พันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ ไกแม่น้ำโขง หรือพืชอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องล้วนได้รับผลกระทบหมด เรียกได้ว่าระบบนิเวศที่เคยสมดุลเปลี่ยนแปลงไปทำให้แหล่งอาหารของคนและสัตว์เสียหายไปด้วย”
นายนิวัฒน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการประชุมหารือหรือร่วมมือต่างๆ มักจะพูดถึงการระบายน้ำจากเขื่อน การช่วยเหลือคนท้ายน้ำด้วยการระบายน้ำ การผลิตกระแสไฟฟ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องปลายเหตุที่ไม่ยั่งยืน แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำร่วมกันเลย
กระทั่งปัจจุบันทางการจีนได้สร้างเขื่อนได้เกือบครบ 11 แห่งแล้ว และยังจะสร้างเขื่อนกาหลันป้าอีก ตนเห็นว่าเขื่อนแห่งใหม่จะกระทบหนักกว่าเดิม เพราะเขื่อนจิ่งหงนั้นตั้งอยู่เหนือเมืองจิ่งหง หรือเชียงรุ้งขึ้นไป การกักเก็บ-ระบายน้ำจะส่งผลกระทบต่อเขตแดนไทยภายใน 2-3 วัน แต่เขื่อนกาหลันป้าตั้งอยู่ท้ายน้ำจากเมืองจิ่งหงลงมาอีกคาดว่าเพียงวันเดียวผลกระทบจากการลดหรือเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนกาหลันป้าจะมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ
อนึ่ง ช่วงเดือนพฤศจิกายน 62 นี้ ศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) ของจีน ได้แจ้งข้อมูลว่าเขื่อนจิ่งหงจะระบายน้ำลงมาในอัตราปกติที่ 836 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่จะมีเพิ่มในบางวัน คือ วันที่ 9 พ.ย.นี้ตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น. และเวลา 16.00-18.00 น. ระบายน้ำลงมาในอัตรา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันที่ 16 พ.ย.ตั้งแต่เวลา 22.00-เที่ยงคืน หรือเข้าสู่วันที่ 17 พ.ย.ระบายน้ำลงมาในอัตรา 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และในที่ 17 และ 18 พ.ย.ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. และวันที่ 22 พ.ย.ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.จะระบายน้ำจากเขื่อนลงมาในอัตรา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดกันว่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือสินค้าในบางช่วงสลับกับการปรับปรุงร่องน้ำโขงตั้งแต่เขตเมืองกาหลันป้า-กวนเหล่ย ในเขตของจีน และเตรียมก่อสร้างเขื่อนกาหลันป้าสูง 60.5 เมตร เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 155 เมกะวัตต์