xs
xsm
sm
md
lg

น้ำโขงสวิงครึ่งเมตรตามจีนเปิดปิดเขื่อนจิ่งหงเอื้อเคลียร์ร่องน้ำล้านช้าง-สร้างเขื่อนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามเหลี่ยมทองคำ/เชียงราย - น้ำโขงสวิงขึ้นลงครึ่งเมตรตามจีนกดปุ่มปล่อยน้ำเขื่อนจิ่งหงเอื้อเคลียร์ร่องน้ำ-เอื้อเรือสินค้า-สร้างเขื่อนแม่น้ำล้านช้างเพิ่ม นักอนุรักษ์ยังจี้ขอจัดการร่วมลดผลกระทบคนท้ายน้ำ แม้ สป.จีนเริ่มแจ้งข้อมูลถี่


ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงแถบสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ยังคงแห้งและปรากฏหาดทรายไปทั่วบริเวณ การเดินเรือสามารถทำได้เฉพาะเรือบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 100 ตัน กับเรือโดยสาร-เรือท่องเที่ยวที่กินน้ำตื้นเท่านั้น และเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย แจ้งว่าในระยะนี้ระดับน้ำโขงจะขึ้นลงในอัตราเพิ่มขึ้น 0.5 เมตร

ซึ่งเป็นผลมาจากศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) มณฑลยูนนาน สป.จีน มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ที่อยู่ห่างจากเชียงแสนราว 344 กม. จากเดิม 1,000-3,000 ลบ.ม./วินาที เหลือ 836 ลบ.ม./วินาที แต่ในวันที่ 9 พ.ย.ตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น. และเวลา 16.00-18.00 น. ได้เพิ่มการระบายน้ำเป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะกลับไประบายในอัตราเดิมคือ 836 ลบ.ม.อีก

จากนั้นในวันที่ 16 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 22.00 น.-เที่ยงคืน หรือย่างเข้าสู่วันที่ 17 พ.ย.จะเพิ่มการปล่อยน้ำเป็น 1,000 ลบ.ม./วินาที ก่อนลดลงไปอัตราเดิม และในวันที่ 17-18 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. และวันที่ 22 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. จะระบายน้ำจากเขื่อนลงมาในอัตรา 1,200 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะลดลงเหลือ 836 ลบ.ม.อีกครั้ง

คาดกันว่าสาเหตุที่มีการลดและเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินเรือสินค้าในบางช่วง และเอื้อต่อการปรับปรุงร่องน้ำโขงตั้งแต่เขตเมืองกาหลันป้า-กวนเหล่ย ในเขตของจีน รวมทั้งเตรียมก่อสร้างเขื่อนกาหลันป้าที่อยู่ท้ายน้ำเขื่อนจิ่งหงลงมา


ด้านนายจีระศักดิ์ อินทะยศ แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า ทางการจีนเริ่มมีการแจ้งข้อมูลการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงมาบ่อยครั้งและละเอียดมากขึ้น คาดว่าเป็นผลมาจากการเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

ในอดีตนั้นข้อมูลข่าวสารเรื่องน้ำโขงมาถึงประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากน้ำโขงน้อยมาก จะมีแค่คนเดินเรือสินค้าเท่านั้นที่ได้รับแจ้ง ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อาจจะทราบเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อนและประสบกับปัญหาน้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติหรือฤดูกาล ส่งผลทำให้ประเทศจีนเดินหน้าพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

กระทั่งปัจจุบันสถานการณ์ความเป็นจริงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างรวดเร็วและไม่อาจปิดกั้นได้อีกแล้ว รวมทั้งมีการจัดประชุมสัมมนาในเวทีต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำแห้งมากกว่าเพราะอยู่ท้ายน้ำและน้ำโขงจะกว้างทำให้ตื้นได้ง่ายได้แสดงออกถึงผลกระทบก็ออกมาเรียกร้อง อาจทำให้ทางการจีนหันมาแจ้งข้อมูลข่าวสารมากขึ้น


นายจีระศักดิ์กล่าวว่า สัญญานดังกล่าวมีขึ้นหลายครั้งในรอบ 1-2 ปีนี้ โดยมีการจัดประชุมสัมมนากันบ่อยครั้งขึ้น และแม้แต่โครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงของจีนที่ผ่านมาหรือโครงการสร้างเขื่อนปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ที่อยู่ถัด อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่จีนและ สปป.ลาวต่างก็เข้ามาประชุมหารือเพื่อหาทางออกกับภาคประชาชนที่ อ.เชียงของ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถือว่าดีที่สุด เพราะปัญหาของแม่น้ำโขงควรแก้ไขในระดับรัฐต่อรัฐโดยมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อการบริหารจัดการที่ชัดเจนว่าในแต่ละช่วงเวลาระดับน้ำควรจะอยู่ในระดับใด และไม่ได้หมายถึงว่าเมื่อมีการประสานความร่วมมือกันแล้วประเทศท้ายน้ำจะต้องเป็นฝ่ายขอความช่วยเหลือจากจีนในการปล่อยน้ำจากเขื่อนอยู่ร่ำไป


"ตอนนี้นักวิชาการ ภาคประชาชน ฯลฯ ยังคงศึกษาข้อมูลทางวิชาการ รวบรวมสถิติ เพื่อเรียกร้องให้บรรลุเป้าหมายบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมทั้งออกไปร่วมกิจกรรมในเวทีต่างๆ ทั้งที่กรุงเทพฯ และในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง และระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย.นี้ตัวแทนเครือข่ายก็จะไปร่วมเวทีทางวิชาการที่มณฑลหูหนาน ประเทศจีน เป็นต้น"

นายจีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีจะมีการยื่นเสนอเรื่องนี้ต่อสถานเอกอัครราชทูต สป.จีน ประจำประเทศไทย ณ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนเพราะยังอยู่ในช่วงที่นักวิชาการรวบรวมข้อมูลและสถิติต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนมีเขื่อนในแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงที่สร้างแล้วเสร็จแล้ว 8 เขื่อน เช่น เขื่อนกอนเกาเฉียว เขื่อนเซี่ยวหวาน เขื่อนมานวาน เขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนนั่วจาตู้ เขื่อนจิ่งหง และยังมีโครงการจะสร้าง-อยู่ระหว่างจะก่อสร้างอีก 6 เขื่อน โดยเขื่อนที่จะอยู่ใกล้สามเหลี่ยมทองคำและชายแดนไทยมากที่สุดคือเขื่อนกาหลันป้า ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนเชียงแสนไปทางทิศเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นเขื่อนสูง 60.5 เมตร ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 155 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น