เอเอฟพี/รอยเตอร์ - โรงไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์บนแม่น้ำโขงตอนล่างในลาวได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้ววานนี้ (30) ในขณะที่ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นพื้นที่บางส่วนของแม่น้ำแห้งขอด และชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำต่างชุมนุมคัดค้านด้วยวิตกว่าเขื่อนแห่งนี้และอีกหลายแห่งซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจะทำลายความเป็นอยู่ของพวกเขา
การเปิดเขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,285 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่หลายพื้นที่ของแม่น้ำโขงแห้งขอดแม้จะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน แต่ผู้ก่อสร้างและผู้ดำเนินการเขื่อนกล่าวว่าเขื่อนแห่งนี้ไม่ใช่สาเหตุของการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง
โครงการเขื่อนไซยะบุรีตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2555 ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมได้เตือนถึงผลกระทบร้ายแรงต่อสายพันธุ์ปลา ตะกอนในน้ำ และระดับน้ำของแม่น้ำ
ลาวตั้งเป้าที่จะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ทั้งหมด 44 แห่ง และกำลังก่อสร้างอยู่อีก 46 แห่ง ตามการระบุขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ
เขื่อนไซยะบุรี ที่พลังงานไฟฟ้า 95% ที่ผลิตได้จากเขื่อนจะส่งขายให้ไทยในอัตราเฉลี่ยยูนิตละ 2 บาทนั้น เป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าแห่งแรกจากอย่างน้อย 9 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือมีแผนก่อสร้างบนแม่น้ำโขงในลาว
ผู้พัฒนาเขื่อนระบุว่าเขื่อนไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับปลาและเป็นพิมพ์เขียวของพลังงานหมุนเวียน แต่คลิปวิดีโอที่เก็บจากการบินโดรนในวันจันทร์บริเวณจ.หนองคาย เผยให้เห็นถึงเรื่องราวที่ต่างไป ที่ระดับน้ำลดต่ำจนเห็นก้นแม่น้ำ
บริษัทซีเค พาวเวอร์ (CKPower) บริษัทในเครือของบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาหลักของโครงการเขื่อนไซยะบุรี กล่าวโทษฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลและการสร้างเขื่อนในจีนว่าเป็นเหตุของปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเช่นนี้
เพียรพร ดีเทศน์ จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ ระบุว่า พื้นที่บางส่วนของแม่น้ำโขงในภูมิภาคกำลังเผชิญกับระดับน้ำที่ลดลงจนน่าวิตกนับตั้งแต่เดือนก.ค. ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการดำเนินการทดลองเขื่อนไซยะบุรี
“พวกเขาผูกขาดอนาคตของระบบนิเวศแม่น้ำโขง และประชากรของลุ่มน้ำโขง” เพียรพร ดีเทศน์ กล่าว และเสริมว่าเป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลได้อย่างสมบูรณ์เพราะขาดข้อมูล
เมื่อวันอังคาร (29) ชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงได้ร่วมประกอบพิธีทางศาสนาที่แสดงถึงการคัดค้านโครงการที่ริมแม่น้ำในฝั่งไทย
“เมื่อเขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ..เราจะไม่สามารถทราบได้ว่าแม่น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและเสื่อมโทรมลงเพียงใด” นักเคลื่อนไหวรายหนึ่ง กล่าว
ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีไปทางใต้ราว 150 กิโลเมตร หมู่บ้านประมงบ้านน้ำไพร ในจ.หนองคาย กำลังเผชิญกับปีที่แห้งแล้งที่สุดในความทรงจำของพวกเขา
ชาวบ้านกล่าวว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงตามปกติจะลึกอย่างน้อย 3 เมตรในช่วงปลายฤดูฝน และชาวบ้านจะจัดการแข่งเรือ แต่ต้องยกเลิกการจัดงานในปีนี้.