xs
xsm
sm
md
lg

ซีเค พาวเวอร์โตต่อเนื่อง ผลดีไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงินเตรียมยิ้มรับรายได้ก้อนโต หลังทุ่มเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี ตอบโจทย์การใช้งานพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไปบริษัทฯ จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจาก กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมของโรงไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดย กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาทต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จาก สปป.ลาว เข้าทางอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เพื่อใช้ภายใน สปป.ลาว

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐบาล สปป. ลาวให้แก่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CKPower มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นรวม 135,000 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกให้ กฟผ.เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่องต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ.ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งการทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด (Joint Test) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีสามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีเสถียรภาพสูง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน กรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง

นายธนวัฒน์กล่าวว่า CKPower ในฐานะผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมกว่า 19,400 ล้านบาท เพื่อศึกษา พัฒนา และเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัย ด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำ มีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย และที่สำคัญ เป็นการศึกษาและพัฒนาให้เหมาะกับพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในขณะนี้

“CKPower ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว รวมทั้งรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว องค์กร หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่ให้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถส่งไฟฟ้าสะอาดให้แก่ประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ตรงตามกำหนด บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจบนสมดุลระหว่างผลตอบแทนกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี : ทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CK Power Public Company Limited) 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5%


กำลังโหลดความคิดเห็น