พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 และประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2562 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการวิเคราะห์ติดตามสภาพอากาศและคาดการณ์ปริมาณฝนในเดือนพฤศจิกายน พบว่าปริมาณฝนรวมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อนละ 30 ส่วนภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20 ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนเดือนธันวาคม ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 50 ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20 และเดือนมกราคม ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 50 ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีทั้งสิ้น 53,316 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,768 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 โดยพบว่ามีถึง 10 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 อาทิ เขื่อนภูมิพล กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางน้ำน้อย จำนวน 74 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ 28 แห่ง ภาคอีสาน 37 แห่ง
พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตามที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้า แบ่งเป็น ในเขต กปภ. 22 จังหวัด นอกเขต 38 จังหวัด และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งเพื่อป้องกันภัยแล้ง และอุทกภัยทางภาคใต้ โดยต้องมีการเก็บกักน้ำทุกรูปแบบ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 อย่างรัดกุม เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้อง รวมทั้งการช่วยเหลือของรัฐบาล และรายงานผลการดำเนินการต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทุกสัปดาห์เพื่อกำกับ ติดตามผลการดำเนินการ หรือปรับแผนดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์