นายธีรคมน์ อริยสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 ว่า ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้นำแนวคิดของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) มาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจํากัดของสิ่งแวดล้อม ก่อนจะนําไปสู่แผนงานเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี โดยมีความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่
ของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำชีใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ที่นอกจากจะมีการจัดทำเป็นรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี รายงานแผนงานตามแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำแบบบูรณาการระดับยุทธศาสตร์ (SIDP) ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีแล้ว สทนช. ยังจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของลุ่มน้ำชี เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ การจัดทำแผนลุ่มน้ำ การตัดสินใจ การให้ข้อมูลกับผู้ใช้น้ำและประชาชน เพื่อกำหนดแผนงานแนวทางพัฒนาในระดับลุ่มน้ำหลัก โดยพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ในการพัฒนาแบบบูรณาการ พร้อมคัดเลือกทางเลือกที่เหมาะสม ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นกรอบในการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระดับโครงการต่อไปในอนาคตด้วย
สำหรับผลจากการศึกษาได้กำหนดทางเลือกการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำชี 5 แนวทาง คือ 1. ทางเลือกที่ไม่ดำเนินการ (Business as usual) เป็นทางเลือกที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามข้อเสนอนโยบาย แผน และแผนงานนั้น ๆ หรือไม่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่าหากไม่มีการพัฒนาใด ๆ ในอนาคตจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีมีปัญหาต่าง ๆ รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร สภาพพื้นที่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น 2. การพัฒนาเพื่อความจำเป็นพื้นฐานและพัฒนาพื้นที่เกษตรอย่างยั่งยืน เป็นทางเลือกการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนให้เพียงพอ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลดความยากจนในพื้นที่ชนบท โดยใช้รูปแบบเกษตรพอเพียงหรือโคกหนองนาโมเดล 3. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตร มีการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ และมีน้ำสนับสนุนอุตสาหกรรมปัจจุบัน เป็นทางเลือกการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย โดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เมืองหลัก เพื่อลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนชนบทและในเมือง 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำให้เต็มศักยภาพ มีน้ำสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ และการท่องเที่ยว เป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้ของประชาชนในลุ่มน้ำ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่ม GRP ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 5 การพัฒนาเกษตรเชิงธุรกิจเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นทางเลือกการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทาน เพื่อสนอง
การขยายตัวด้านอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะฤดูแล้ง
และเพิ่มมูลค่าน้ำในการผลิตเพื่อเพิ่ม GDP ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนหลักในการพัฒนาลุ่มน้ำชี ต้องนำผลการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มาพิจารณากรอบแนวทาง แผนงาน โครงการ สำหรับการพัฒนาลุ่มน้ำชี รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในลุ่มน้ำชี อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสียในพื้นที่ นำไปสู่การวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดเป็นแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำชีที่มีความเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป