xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กทพ.ปิดคดีพิพาททางด่วน เผยเจรจา BEM ยอมรับทุกเงื่อนไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.)
บอร์ด กทพ.เจรจา BEM ยุติข้อพิพาททางด่วน “สุรงค์” เผยเอกชนยอมรับเงื่อนไขและไม่มี Double Deck ขยายสัญญา 15 ปี 8 เดือน เร่งเสนอ กก.มาตรา 43 และส่งร่างแก้ไขสัญญาอัยการสูงสุดพิจารณา


นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด กทพ. วันที่ 6 ม.ค.ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแนวทางในการเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM‪ เพื่อยุติข้อพิพาทคดีทางด่วนที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขหลักคือ ไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีต่อกัน 17 คดี โดยจะมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน


ทั้งนี้ วานนี้ (6 ม.ค.) บอร์ด กทพ.ได้มีการเจรจากับ BEM อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทฯ ได้ยอมรับและตกลงตามเงื่อนไขที่คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทฯ ที่มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้พิจารณาไว้ และจะไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการปรับค่าผ่านทางและทางแข่งขันกันอีกในอนาคต

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การปรับค่าผ่านทางชัดเจน ทุก 10 ปี (ครั้งละ 10 บาท), การยกเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศ, การแบ่งรายได้ กทพ.-BEM ที่ 60-40 และทางด่วน ส่วน C บวก BEM ได้ 100% นั้น ยังคงตามที่คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทได้มีการเจรจาไว้ ทาง BEM ให้ความร่วมมือทุกประเด็น


ดังนั้น ในครั้งนี้ถือว่าการเจรจาระหว่าง กทพ. กับ BEM ได้ข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน และหลังจากนี้ กทพ.จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 ที่มี นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้ ตามกระบวนการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อเร่งเสนอกระทรวงคมนาคม และในทางคู่ขนาน กทพ.จะส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไข ประเด็นที่ไม่มีการปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 และยุติข้อพิพาท ส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และส่งต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้

สำหรับค่าชดเชยกรณีวงเงิน 4,318 ล้านบาท ศาลปกครองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ให้ กทพ.จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขันนั้น จะต้องยกเลิกกันและไม่ถูกบันทึก แต่ในกระบวนการทางบัญชี การคืนหนี้จะต้องหารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าจะทำอย่างไร
ในส่วนของสหภาพฯ กพท.ได้แสดงความเป็นห่วง ความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมขององค์กรนั้น


นายสุรงค์กล่าวว่า บอร์ดได้นำข้อห่วงใยของสหภาพฯ มาพิจารณา และยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ในบทบาทและหน้าที่ของกรรมการ 2 ส่วน คือ ต้องดำเนินการตามนโยบายที่กระทรวงคมนาคมกำหนดและดูแลผลประโยชน์ขององค์กรให้ดีที่สุด และตามเงื่อนไขที่ตกลงกับคณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทฯ กระทรวงคมนาคม และเป็นไปตามข้อ 21 ในมาตรา 43 ซึ่งระบุว่าทางเอกชนมีสิทธิ์ที่จะขอขยายสัญญาออกไปได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยต้องเจรจาเงื่อนไขและข้อตกลงในเวลานั้นๆ ก่อน และไม่ใช่เป็นการได้สิทธิ์แบบอัตโนมัติ ต้องเจรจาและตกลงกันในอนาคต ในช่วง 4 ปี 4 เดือนสุดท้ายก่อนสัญญาจะครบในวันที่ 31 ตุลาคม 2578
อย่างไรก็ตาม สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง กทพ.ตั้งเป้าจะลงนามกับ BEM ภายในเดือน ก.พ. จากนั้นจะเร่งถอนข้อพิพาทที่มีต่อกัน รวม 17 คดี (กทพ.ฟ้อง BEM 2 คดี, BEM ฟ้อง กทพ. 15 คดี) ให้จบก่อนสัญญาจึงจะมีผลบังคับ หรือก่อนที่สัญญาหลักจะสิ้นสุดใน 29 ก.พ. 2563 ตามเงื่อนไขของสัญญาใหม่ที่จะมีผลบังคับต่อเมื่อสองฝ่ายได้ถอนฟ้องทุกคดีหมดแล้ว ซึ่งหากมีข้อติดขัดที่ทำให้ดำเนินการไม่ทันวันที่ 29 ก.พ. 2563 กทพ.จะใช้วิธีการจ้างบริหารทางด่วนในรูปแบบ O&M ไปพรางก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น