xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มหากาพย์คดีทางด่วน จ่อ Endgame ต่อสัญญา15 ปีแลกหนี้ 1.3 แสนล้าน คุ้มไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ลุยปิดจ๊อบงานช้างอย่างต่อเนื่องสำหรับพรรคภูมิใจไทย ล่าสุดมหากาพย์ข้อพิพาททางด่วน รวม 17 คดี เดินหน้าสู่โหมดใกล้ Endgame กับทางเลือกต่อสัญญาให้ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM 15 ปี แลกล้างหนี้1.3 แสนล้าน และถอนฟ้องทุกคดี

ถือเป็นออปชั่นที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เชื่อว่านี่เป็นซุปเปอร์ดีลที่ดีแล้ว และกะว่าจะรีบบายพาสเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติแนวทางยุติข้อพิพาทดังกล่าว เป็นผลงานส่งท้ายปีแบบสวยๆ

ทว่า เรื่องใหญ่ที่ต้องทำให้ละเอียดรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังอีนุงตุงนังกันอย่างที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงแนะให้คมนาคมเอาเรื่องกลับไปทำตามขั้นตอนกฎหมาย เจรจาให้ได้ข้อสรุปสุดท้าย ร่างสัญญากันให้เสร็จสรรพ ส่งอัยการสูงสุด ตรวจทานให้เรียบร้อย และที่สำคัญคือต้องให้บอร์ดการทางพิเศษฯ เคาะเสียก่อน ถึงค่อยเอาเข้าที่ประชุมครม.อีกทีหนึ่ง ยังไม่ต้องรีบมาก

แต่ถึงจะเป็นฝันค้างยังไม่สามารถปิดดีลได้อย่างสะเด็ดน้ำ ก็เห็นแนวทางชัดเจนแล้วว่าจะเลือกไปทางไหน ส่วนจะดันไปได้สุดทางตามไทม์ไลน์ที่นายศักดิ์สยาม วางเอาไว้ในเดือนมกราคม 2563 ทุกอย่างจะเรียบร้อยหรือไม่ ก็ต้องรอดูอีกที

อย่างที่รู้กันดีว่า คดีข้อพิพาททางด่วนนั้นยืดเยื้อยาวนานและฟ้องร้องกันมากมายหลายคดีจนหาข้อยุติได้ยาก ทางออกของข้อพิพาทแต่ละแนวทางมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ข้อเสนอและเงื่อนไขในการเจรจายุติข้อพิพาท จึงไม่ได้มีเพียงแนวทางที่คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทฯ เสนอต่อนายศักดิ์สยาม เท่านั้น ยังมีในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยสภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาหาแนวทางแก้ไขด้วย และเสียงในกรรมาธิการฯ ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน

          สำหรับข้อสรุปจากคณะทำงานแก้ไขข้อพิพาท ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือNECL ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะ และชงเรื่องให้นายศักดิ์สยาม เอาเข้าครม.นั้น นายชัยวัฒน์ ให้รายละเอียดว่า กระทรวงคมนาคม ได้สรุปแนวทางการยุติข้อพิพาท ที่เป็นคดีทางด่วนรวม 17 คดี แล้ว โดยจะต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยจะไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck)

ตามแนวทางนี้ จะมี 3 สัญญาที่เกี่ยวข้อง คือ การแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2, สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด โดยต่อขยายระยะเวลาสัมปทานทั้ง 3 สัญญา ออกไปสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวม 15 ปี 8 เดือน โดยให้นับจากวันที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C สิ้นสุดลง เป็นหลัก) ดังนี้
 
1.การต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C ซึ่งสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อสัญญาเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน 2.การต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ซึ่งสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 22 เมษายน 2570 เท่ากับ ขยายสัญญาออกไปเป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน และ 3.การต่อสัญญาทางด่วนบางปะอิน -ปากเกร็ด ( C บวก) ซึ่งสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 2569 ขยายสัญญาออกไปเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน

ตามแผนกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา หากครม.เห็นชอบ จึงจะแจ้งให้ กทพ.เจรจากับ BEM เพื่อส่งผลสรุปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 และส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณา เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 68 ของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2562

ตามกรอบเวลากะให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2563 เพื่อให้การลงนามสัญญาทำได้ทันก่อนที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้มีเงื่อนไขว่าหลังลงนามสัญญาทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องถอนข้อพิพาทที่มีต่อกัน รวม 17 คดี แยกเป็น กทพ.ฟ้อง BEM 2 คดี และ BEM ฟ้อง กทพ. 15 คดี และเอาให้จบก่อนสัญญาจะมีผลบังคับ หรือก่อนที่สัญญาหลักจะสิ้นสุดใน 29 กุมภาพันธ์ 2563

แต่แผนการและกรอบเวลาที่กระทรวงคมนาคมวางไว้ เจอการแตะเบรกจากนายวิษณุ ให้กลับมาเจรจาและจัดทำร่างสัญญาให้เสร็จก่อนตามขั้นตอน แล้วค่อยเอาเข้าครม.เพื่อพิจารณา ดังนั้น การลงนามสัญญาตามข้อเจรจาไม่ทันกับที่สัญญาทางด่วนจะสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 นี้แน่ แต่ก็ยังมีวิธีการจ้าง แบบ O&M ที่ กทพ. จะทำเองหรือจ้างเอกชนเข้ามาทำได้ เรื่องนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา

นายชัยวัฒน์ อธิบายที่มาที่ไปก่อนที่จะได้ข้อสรุปทางเลือกต่อสัญญาแลกหนี้ว่า ก่อนหน้านี้ บอร์ดกทพ.เจรจากับ BEM เพื่อยุติข้อพิพาททางด่วน หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้กทพ.จ่ายค่าชดเชยรายได้ให้ NECL กรณีกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ - รังสิต ในคดีทางแข่งขันทางด่วนบางปะอิน -ปากเกร็ด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,359,916,478 บาท ซึ่ง กทพ.ได้เจรจากับเอกชนโดยนำข้อพิพาท ทั้งหมด 17 คดี มาพิจารณา และประเมินมูลค่าความเสียหายที่ 137,517 ล้านบาท

ต่อมา เจรจาต่อรองค่าเสียหายเหลือ 58,873 ล้านบาท โดยต่อสัญญาให้ 30 ปี ซึ่งเอกชนมีการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และก่อสร้างทางขึ้น-ลงเชื่อมเข้าศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อแก้ปัญหาจราจร , แบ่งรายได้ กทพ.-BEM ที่ 60-40 ส่วน C บวก เอกชนได้รายได้ 100% ,ปรับค่าผ่านทางชัดเจน โดยปรับทุก10ปี ( ครั้งละ 10 บาท)

แต่ทว่า หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ตั้งคณะทำงานฯ และให้นำผลเจรจามาวิเคราะห์ตัวเลขให้รอบคอบ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นคนกลางประเมินปริมาณจราจรของดอนเมืองโทลล์เวย์ ตั้งแต่เปิดปี 2541 เพื่อคำนวณเป็นรายได้ที่ NECL ควรได้ กรณีที่ไม่มีดอนเมืองโทลล์เวย์ รวมถึงปริมาณจราจรพื้นราบที่เกิดความแออัดและมีโอกาสไปใช้ทางด่วนบางปะอิน เมื่อนำเข้าแบบจำลอง มีตัวเลขออกมาที่ 5.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ การเจรจาได้ตัดเรื่อง Double Deck ออกเพราะไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท และได้เจรจากับเอกชนในการยกเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่ประกาศโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประมาณปีละ19 วัน ถือเป็นการเพิ่มเติมจากการเจรจาเดิม

ผลการเจรจาต่อรองที่ออกมา นายศักดิ์สยาม ถือว่าน่าพอใจ ประเมินจากปริมาณจราจรบนดอนเมืองโทลล์เวย์ที่เป็นทางแข่งขัน สุดท้ายได้มูลหนี้ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท และระยะเวลาสัญญา ที่ 15 ปี 8 เดือน โดยจะยกเว้นค่าผ่านทางวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งตลอดอายุสัญญาจะมีประมาณ 300 กว่าวัน คิดเป็นมูลค่ารายได้ที่เอกชนที่ควรได้รับ หายไปประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอกชนยินยอมมอบเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

นายศักดิ์สยาม ยังอธิบายว่า ตัวเลขมีที่มา มีการวิเคราะห์ ซึ่งในการเจรจามี 3 กลุ่ม คือ กรณีทางแข่งขัน กรณีไม่ปรับค่าผ่านทาง และ กรณีผิดสัญญาเล็กๆ น้อย เช่นเปลี่ยนแบบ หรือการเช่าอาคาร ซึ่งในการเจรจาดูอย่างรอบด้าน เอกชนจะเรียกร้องตามที่เห็นว่ามีสิทธิ์ในสัญญา ส่วนภาครัฐ ต้องดูสาเหตุที่เกิดเรื่อง และใครทำให้เกิดซึ่งจะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการด้วย

“ทำเรื่องนี้ มา 4 เดือน ข้อสรุปนี้ มั่นใจว่าไม่มีค่าโง่แน่นอน ผมคิดว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้ว เพราะได้ให้นโยบายว่าทำ โดยไม่ติดคุก และไม่หนีออกนอกประเทศ” นายศักดิ์สยาม เชื่อมั่นเช่นนั้น แต่ทว่า นายวิษณุ ก็ยังต้องการให้กระทรวงคมนาคม จัดทำรายละเอียดมาให้ชัดเจน และทำตามขั้นตอนเสียก่อน

นายศักดิ์สยาม บอกว่า ยังไม่ได้เสนอเข้าสู่วาระการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำแนวทางแก้ไขข้อพิพาทมาเสนอให้ ครม.พิจารณา แต่ควรกลับไปทำรายละเอียดให้สมบูรณ์กว่านี้ โดยให้ กทพ.ไปเจรจาแนวทางทั้งหมดร่วมกับบีอีเอ็ม พร้อมจัดทำร่างสัญญาและรายงานคณะกรรมการกำกับตาม ม.43 ร่วมถึงส่งร่างสัญญาไปยังอัยการ ให้ตรวจสอบด้วย

“ท่านรองวิษณุ ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ ควรจะไปทำตามกระบวนการทางกฎหมายให้เรียบร้อย แล้วเสนอเป็นร่างสัญญากลับเข้ามาให้ ครม.พิจารณาเลย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ กทพ.จะต้องเสนอแนวทางยุติข้อพิพาทให้กับบอร์ด กทพ.พิจารณาก่อน ...... ส่วนตัวผมยังคิดว่าแนวทางยุติข้อพิพาทที่ทำมาดีแล้ว อย่างที่ปลัดเคยบอกว่ามันเป็นซูเปอร์ดีล ผมก็คิดแบบนั้นจริงๆ”

                ภารกิจปิดฉากมหากาพย์ข้อพิพาททางด่วนจะสำเร็จหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอเดี๋ยวก็รู้


กำลังโหลดความคิดเห็น