xs
xsm
sm
md
lg

แจงยืดแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” หวังลดต้นทุนทำลาย ปล่อยผี “ไกลโฟเซต” หวั่นกระทบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดวัตถุอันตราย สรุปเสียงเป็นเอกฉันท์ยืดระยะเวลาแบน 2 สาร ทั้งพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เดิม 1 ธ.ค. 62 เป็น 1 มิ.ย. 63 เหตุกำหนดเดิมมีปัญหาทางปฏิบัติ และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อกำจัดสาร ขณะที่ไกลโฟเซตหลุดพ้นบัญชีฯ 4 แต่จำกัดการใช้ตามมิติเดิมเมื่อ 23 พ.ย. 61 หวั่นกระทบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และต่อเนื่อง และทั่วโลกแบนแค่ 9 ประเทศ



นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์จากผู้เข้ามาร่วมประชุมทั้งสิ้น 24 คน ให้ทบทวนมติเดิมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ด้วยการออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

นอกจากนี้ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากที่มีมติ

“ณ ตอนนื้ ยืนยันว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากมติดังกล่าวอีก ทุกคนหวังว่า 1 มิ.ย.นี้จะเป็นการประกาศบังคับใช้ได้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขเองก็ห่วงใยต่อสุขภาพประชาชน ในส่วนของไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ เพราะสารตัวนี้ทั้งหมดในโลก 161 ประเทศยังคงใช้สารนี้ได้ มีแบนเพียง 9 ประเทศเท่านั้น และพบว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารสัตว์ ถ้าห้ามใช้ตัวนี้จะไม่สามารถนำเอาถั่วเหลือง ข้าวสาลี มาจากสหรัฐฯ บราซิล และประเทศอื่นๆ ได้ ก็จะกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์อีกด้วย” นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ มติการประชุมบอร์ดวัตถุอันตรายเมื่อ 22 ต.ค. เห็นชอบให้แบน 3 สาร (พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส) ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 62 และให้กรมวิชาการเกษตรไปยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งการประชุมครั้งนี้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ ว่า ได้มีการหารือแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ รวมถึงผลกระทบอื่นๆ พบว่ามีข้อจำกัดในการปฏิบัติ หากจะให้ยกเลิก 3 สารมีผล 1 ธ.ค. 62

รวมทั้งการประชุมรับฟังความเห็นพบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยและมีข้อเสนอแนะจำนวนมาก ซึ่งการจัดการสารที่คงค้างมีจำนวน 23,000 ตัน โดยประมาณ หากทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และบางส่วนไม่สามารถผลักดันให้ส่งกลับไปได้ ขณะเดียวกันยังเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรได้ และอาจมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ


















กำลังโหลดความคิดเห็น