xs
xsm
sm
md
lg

สุดทนแล้ว “ภญ.จิราพร” ไขก๊อกพ้น กก.วัตถุอันตราย แฉประชุมเมื่อวานไม่มีการลงมติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม (แฟ้มภาพ)
นายกสภาเภสัชกรรม ประกาศลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย แฉที่ประชุมวานนี้ไม่มีการลงมติใครเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมต้องรับมติ ไม่ใช่มติเอกฉันท์ เผยอภิปรายในที่ประชุมแล้วต้องแบน 3 สาร พร้อมย้ำ “ไกลโฟเซต” อันตรายต่อผู้บริโภค

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วานนี้ (27 พ.ย.) มีมติให้เลื่อนการแบนสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 และยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซตโดยให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้แทน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 62 ที่ให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยสิ้นเชิงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 62 นั้น

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และเป็นกรรมการวัตถุอันตราย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว จิราพร ลิ้มปานานนท์ ว่า ขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของท่านประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม)

1. ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นมติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ต.ค.

2. ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสุริยะแถลงว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์จากผู้เข้ามาร่วมประชุมทั้งสิ้น 24 คน ให้ทบทวนมติเดิมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ด้วยการออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

โดยในส่วนของไกลโฟเซตนั้น นายสุริยะชี้แจงว่า 161 ประเทศทั่วโลกยังคงใช้สารนี้อยู่ แบนเพียง 9 ประเทศเท่านั้น และพบว่าถ้าห้ามใช้ตัวนี้อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารสัตว์ จะไม่สามารถนำเอาถั่วเหลือง ข้าวสาลี มาจากสหรัฐฯ บราซิล และประเทศอื่นๆ จะกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น