xs
xsm
sm
md
lg

จับตาวันนี้! เปิดเอกสารลับแต่งข้อมูลลวง “บอร์ดวัตถุอันตราย” กลับมติแบน 3 สาร พ่วงขอเงิน 3.3 หมื่นล้านเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ม็อบเกษตรกรชุดดำ คัดค้านการแบน 3 สารเคมี ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (26 พ.ย.)
จับตาประชุมบอร์ดวัตถุอันตรายวันนี้ หลังเอกสารลับว่อน อ้างเป็นของกรมวิชาการเกษตร รับฟังความเห็นเกษตรกรต่อการแบน 3 สาร ส่งให้ กก.วัตถุอันตราย พบเป็นเสียงจัดตั้งของ 2 กลุ่มอ้างเป็นเกษตรกรแต่หนุนการใช้ 3 สารพิษ ด้านคณะทำงานชง “เฉลิมชัย” เตรียมลงนาม ส่งแผนประกาศเยียวยาเกษตรกร 6 แสนราย 3.34 หมื่นล้าน สะพัด! รมว.อุตฯ ส่อพลิกมติ ชะลอแบน 6 เดือน สบช่องนายทุนลดแลกแจกแถม อัดยาใส่มือเกษตรกร ไม่ต้องเสียเงินกำจัด

วันนี้ (27 พ.ย.) แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ต้องจับตาดูว่าในวันนี้คณะทำงานพิจารณาแนวทางผลกระทบเกษตรกร ที่มีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เตรียมเสนอเอกสารให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ลงนามเพื่อยกเลิกใช้ 3 สาร พาราควอต, ไกลโฟเซต, คลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีมติไปในทิศทางเดียวกัน ให้ “แบน” เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 และให้ขึ้นเป็นบัญชี 4 ห้ามมีไว้ครอบครอง ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาผลกระทบอีกครั้งก่อนที่ รมว.อุตสาหกรรม ลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม แบน 3 สาร

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ปีที่แล้ว ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุม แต่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 6 เดือน เนื่องจากการจัดเก็บสารเคมีมีกว่า 2.8 หมื่นตัน ทำไม่ทันในระยะเวลา 30 วัน โดยเสนอเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับ “เอกสารลับ” ที่กรมวิชาการเกษตรได้มีการสรุปผลรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ พ.ศ. ... พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร เห็นด้วย 12,139 ราย ไม่เห็นด้วย 17,256 ราย รวม 29,395 ราย ผ่านแบบแสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 4 ราย ไม่เห็นด้วย 1,863 ราย รวม 1,867 ราย แสดงความเห็นผ่านทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องให้ใช้ 3 สารเคมีต่อไป เห็นด้วย 0 ไม่เห็นด้วย 13,441 ราย รวม 13,441 ราย แสดงความเห็นผ่านเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กลุ่มสนับสนุนสารเคมีเช่นเดียวกัน เห็นด้วย 0 ไม่เห็นด้วย 4,086 ราย รวม 4,086 ราย สรุปผลความเห็นทั้งหมด ณ วันที่ 14 พ.ย. 2562 เห็นด้วย รวม 12,143 ราย ไม่เห็นด้วย 36,646 ราย รวมผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 48,789 ราย

“ทำให้เห็นว่ามีการจัดตั้งในการแสดงความเห็นของกลุ่มสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และกลุ่มเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ได้นำสำเนาเอกสารของกรมฯ ไปแจกให้ในกลุ่มสมาชิกตนเองไปรวบรวมมาของ 2 กลุ่มนี้ มีแต่ไม่เห็นด้วยเกือบ 2 หมื่นราย เท่าเป็นการจัดตั้งครึ่งหนึ่งของผู้แสดงความเห็น” แหล่งข่าวระบุ


นอกจากนั้น ต้องจับตาดูด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันนี้ (27 พ.ย.) ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะนำแนวทางเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เสนอเข้าที่ประชุม จากที่ได้รวบรวมผลกระทบสรุปรวมเป็นค่าชดเชยทั้งสิ้น 33,417 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 6 แสนราย แบ่งเป็น พาราควอต และไกลโฟเซต คิดเป็นค่าชดเชยทั้งสิ้น 32,867 ล้านบาท จำแนกเป็นเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพด พื้นที่ 5.52 ล้านไร่ ไร่ละ 1,114 บาท รวม 7,807 ล้านบาท อ้อย พื้นที่ 2.33ล้านไร่ ไร่ละ 4,136 บาท รวม 9,650 ล้านบาท มันสำปะหลัง พื้นที่ 3.04 ล้านไร่ ไร่ละ1,167 บาท รวม 3,550 ล้านบาท ยางพารา พื้นที่ 2.85 ล้านไร่ ไร่ละ 1,725 บาท รวม 4,922 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ 1.92 ล้านไร่ ไร่ละ 1,766 บาท รวม 3,396 ล้านบาท ไม้ผล อื่นๆ พื้นที่ 1.81 ล้านไร่ ไร่ละ 1,950 บาท รวม 3,545 ล้านบาท

คลอไพริฟอส เป็นค่าชดเชย ทั้งสิ้น 550 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ปลูกข้าวโพด พื้นที่ 5.52 ล้านไร่ ไร่ละ 79 บาท ค่าชดเชย 434 ล้านบาท ผู้ปลูกอ้อย พื้นที่ 2.33 ล้านไร่ ไร่ละ 22 บาท รวม 51 ล้านบาท มันสำปะหลัง พื้นที่ 3.04 ล้านไร่ ไร่ละ 21 บาท ค่าชดเชย 65 ล้านบาท ไม้ผล พื้นที่ 1.81 ล้านไร่ (ไม่ชดเชย เนื่องจากทุนสารทางเลือกใกล้เคียงกัน) ผู้ปลูกไม้ดอก พื้นที่ 1.5 หมื่นไร่ (ไม่ชดเชย ต้นทุนสารทางเลือกใกล้เคียงกัน) กลุ่มผู้ปลูกพืชไร่ (ไม่รวมข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง) พื้นที่ 2.05 แสนไร่ ไร่ละ 28 บาทค่าชดเชย 6 ล้านบาท

“ในวันนี้มีแนวโน้มที่นายสุริยะจะออกมติชะลอการแบน 3 สารไปอีก 6 เดือน เป็นช่องทางให้ระบายสารในสต๊อก ลดภาระเอกชนใช้เงินทำลายสารตามมาตรา 52 กับอีกแนวทางหนึ่งคือ ให้มีมติให้แบนสารมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 62 แต่ให้กรมวิชาการเกษตรไปแก้ประกาศในราชกิจจาฯ ออกฉบับใหม่ เพื่อขยายเวลาการจัดเก็บสารไปอีก 6 เดือน”

โดยทั้งสองแนวทางเป็นช่องโหว่ทำให้เอกชนระบายสารไปอยู่ในมือเกษตรกร จนถึงขณะนี้สต๊อกของกรมวิชาการเกษตรรายงานมายังไม่นิ่ง รวมทั้งได้มีบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายต้านแบนสารได้นำเส้นทางการจัดตั้งกลุ่มผู้ต่อต้านมาพร้อมหลักฐานให้กับผู้ใหญ่ในกระทรวงรับทราบว่าใครอยู่เบื้องหลัง พบว่าเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเกษตรฯ กับเอกชนที่มีโรงงานนำเข้าสารเคมีแห่งหนึ่งเป็นหัวเรือใหญ่จัดตั้งม็อบเกษตรกรชุดดำครั้งนี้”


กำลังโหลดความคิดเห็น