แฉ! มอนซานโต้-ไบเออร์-ซินเจนทา ชักใยม็อบคัดค้านการแบน 3 สารพิษ หน้าฉากเคลื่อนไหวในนามสมาคมเกษตร รับ 2 ภารกิจหลัก ปกป้องทุนเคมีเกษตร และอบรมส่งเสริมการใช้เคมีกำจัดศัตรูพืช พบพิรุธ “กรมวิชาการเกษตร” มั่วผลสรุปคนส่วนใหญ่ค้านแบน 3 สาร สอดไส้ 1.7 หมื่นรายชื่อ “กลุ่มรับใช้ทุน-หนุนสารพิษ” ด้าน ไบโอไทย ชี้ผลสำรวจไม่น่าเชื่อถือ เหตุไม่นำ 5 หมื่นรายชื่อโหวตหนุนแบนสารพิษจาก Change มาพิจารณา
นับเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตาสำหรับการประชุม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ชุดใหม่ ในวันนี้ (27 พ.ย. 2562) ที่จะพิจารณาทบทวนการแบน 3 สารพิษการเกษตร อันได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต ซึ่งเดิมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อนได้มีมติให้ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ออกมาส่งสัญญาณว่าอาจมีการยืดระยะเวลาการแบนสารพิษดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรชงข้อมูลเรื่องการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 75% ไม่เห็นด้วยกับการแบน 3 สารเคมี
ขณะที่เมื่อวานนี้ (26 พ.ย. 2562) บรรดาแกนนำในการคัดค้านการแบนสารพิษที่ใช้ในการเกษตรก็ได้นำเกษตรกรนับพันคนตบเท้าเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อกดดันให้ยกเลิกการแบน 3 สารพิษ โดยอ้างถึงความเดือดร้อนและการล่มสลายของอาชีพเกษตรกรเป็นประเด็นหลัก
แต่ที่หลายฝ่ายหลงลืมไปก็คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า... บรรดาแกนนำที่พาเกษตรกรมาคัดค้านการแบนสารพิษดังกล่าวเป็นใคร? เขาเป็นเกษตรกรจริงหรือไม่? หรือว่าเขามีผลประโยชน์แอบแฝงในเครือข่ายกลุ่มทุนเคมีเกษตรหรือเปล่า?
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า บรรดาแกนนำที่ตบเท้าเข้าพบรัฐมนตรีหลายกระทรวงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการแบน 3 สารพิษการเกษตรดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งไม่ใช่เกษตรกร หากแต่เป็นกลุ่มที่เกี่ยวพันกับบริษัทผู้ผลิตเคมีเกษตร และกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการรวบรวม จำหน่าย และผลิตสินค้าจากวัตถุดิบการเกษตร
โดยจากข้อมูลของมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) มีหลักฐานชัดเจนว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรหลายองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแบน 3 สารพิษการเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องและเป็นเครือข่ายของกลุ่มทุนเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ระดับโลก... ไม่ว่าจะเป็น
ดร.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ ประธานสมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยรู้จักและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมักเข้าไปร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้เคมีเกษตรแก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งผู้ก่อตั้งสมาคมแหงนี้ก็คือ มอนซานโต้ ไบเออร์ และซินเจนทา สาขาประเทศไทยนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สมาคมนี้มักออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแบนสารพิษ
ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮ้าส์ ประธานสมาคมการค้าวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ TAITA ซึ่งจริงๆ แล้วสมาคมแห่งนี้ก็คือสำนักงานสาขาของ CropLife องค์กรที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องส่งเสริมผลประโยชน์ของบริษัทผลิตและค้าสารพิษทางการเกษตรและพืชจีเอ็มโอ โดยสมาชิกของ CropLife ก็คือบรรษัทผู้ผลิตสารเคมีการเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ มอนซานโต้ ไบเออร์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ราวด์อัพ (ไกลโฟเซต) ซินเจนทา เจ้าของผลิตภัณฑ์ กรัมม็อกโซน (พาราควอต) เป็นต้น
ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ประธานสมาคมไทยธุรกิจเกษตร ซึ่งชัดเจนว่าองค์กรแห่งนี้เป็นหนึ่งในสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และเมื่อต้นปี 2562 ดร.วีระวุฒิก็ได้เข้าพบอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์) เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสได้รับตำแหน่ง พร้อมทั้งรับทราบนโยบายเกี่ยวกับปุ๋ยและเคมีเกษตรด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนทำธุรกิจขายเคมีเกษตรจะคัดค้านการแบนสารพิษทางการเกษตรที่ทำกำไรให้เขา
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรปลอดภัย ซึ่งแม้ในบทบาทหนึ่งเขาจะเป็นเกษตกร แต่อีกบทบาทหนึ่งก็คือผู้พิทักษ์ 3 สารพิษ โดยก่อนหน้านี้ 'มูลนิธิชีววิถี' (BIOTHAI) ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการเคลื่อนไหวของ 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' ที่นำโดยนายสุกรรณ์ ว่าเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากมีการเรียกร้องให้แบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งสมาพันธ์มักปรากฏตัวและทำกิจกรรมร่วมกับ 'สมาคมอารักขาพืช' ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รายใหญ่ในประเทศไทย
สอดคล้องกับข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ที่ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า นายสุกรรณ์เป็น เกษตรกรหุ่นเชิด" ของบริษัทสารพิษทางการเกษตร อีกทั้งในจดหมายเปิดผนึกของสมาพันธ์ฯซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 นายสุกรรณ์ ได้ยอมรับว่า... “จากการกล่าวอ้างว่า สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย FSA นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมีภาคการเกษตรนั้นทางเราไม่ปฏิเสธ”
น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร แกนนำกลุ่มเครือข่ายคนรักแม่กลอง แม้จะอ้างตัวว่าเป็นเกษตรกร แต่กลับพบบทบาทในการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สินค้าให้แก่บริษัทผู้ผลิตสารเคมีการเกษตร โดยมักมีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้เคมีกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกรในพื้นที่ และเมื่อไม่นานมานี้ น.ส.อัญชุลีได้ถูกกระทรวงสาธารณสุขแจ้งความดำเนินกรณีที่นำเครื่องหมายราชการของกระทรวงสาธารณสุขไปใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการราชบุรีประชารัฐ “พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก” โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งสงสัยว่าอาจมีการแอบอ้างชื่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการด้วย ดังนั้นการที่ น.ส.อัญชุลีออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแบน 3 สารพิษแบบสุดลิ่มทิ่มประตูจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีเรื่องผลประโยชน์จากบริษัทค้าสารพิษเข้ามาเกี่ยวข้อง
ส่วนแกนนำในการเคลื่อนไหวคัดค้านการแบน 3 สารพิษ ซี่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตการเกษตร อาทิ ผู้รับซื้อและจำหน่ายพืชผลการเกษตร และผู้ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบการเกษตรนั้น ได้แก่ กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย, ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากประเด็นเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงของผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการแบน 3 สารเคมีการเกษตรที่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริงแล้ว หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของข้อสรุปซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จากการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ พ.ศ. ... ซึ่งนำไปสู่ข้ออ้างในการพิจารณาเลื่อนการแบน 3 สารพิษ โดยให้เหตุผลว่าผลการประชาพิจารณ์มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมีการเกษตรทั้ง 3 ชนิดถึง 75% ทั้งที่จริงๆ แล้วเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้หรือมีส่วนในการแสดงความเห็นดังกล่าว
โดยพบว่า กรมวิชาการเกษตรเปิดรับฟังความเห็น 3 ช่องทาง คือ 1) เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร มีผู้แสดงความเห็น 29,395 ราย เห็นด้วย 12,139 ราย ไม่เห็นด้วย 17,256 ราย 2) ผ่านแบบแสดงความคิดเห็น 1,867 ราย เห็นด้วย 4 รายไม่เห็นด้วย 1,863 ราย และ 3) รับฟังความเห็นจากกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นจุดที่ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากมีเกษตรกรเพียง 2 กลุ่มที่ได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็น คือ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย จำนวน 13,441 ราย และเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง 4,086 ราย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มล้วนเป็นกลุ่มที่คัดค้านการแบนสารพิษการเกษตร ความเห็นที่ออกมาจึงมีแต่ผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบน 3 สารพิษดังกล่าว
อีกทั้งจากการตรวจสอบยังพบว่าผู้ที่ร่วมแสดงความเห็นบางส่วนมีการลงชื่อซ้ำหลายครั้ง ดังนั้นจึงเกิดความเคลือบแคลงว่าข้อสรุปที่ว่าคนส่วนใหญ่ 75% ไม่เห็นด้วยกับการแบนสารพิษ จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่? มีการ “สอดไส้” รายชื่อเกษตรที่คัดค้านการแบนสารพิษหรือเปล่า?
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) มองว่า การสำรวจความเห็นเรื่องผลกระทบจากการแบน 3 สารพิษควรเปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคซึ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เลือกเฉพาะเกษตรกรที่คัดค้าน อีกทั้งยังนำความเห็นดังกล่าวมาเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาเพื่อทบทวนระยะที่จะเริ่มแบนสารพิษทั้ง 3 ตัวด้วย
“ต้องเข้าใจว่าการรับฟังความเห็นดังกล่าวไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์เนื่องจากไม่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ประเด็นที่หลายฝ่ายแปลกใจ คือ ทำไมจู่ๆ เอาความเห็นของคนแค่ 2 กลุ่ม คือ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย 13,000 คน กับเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง อีก 4,000 คน ที่คัดค้านการแบน 3 สารพิษการเกษตรมาใส่ในรายงาน แต่ทำไมความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศที่ร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ Change ให้แบนสารพิษดังกล่าวกว่า 52,000 คน ถึงไม่นำมาพิจารณา เมื่อมีการเลือกความเห็นเฉพาะบางกลุ่มผลสรุปที่ออกมาจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร” นายวิฑูรย์ระบุ
กล่าวได้ว่า 3 สารพิษการเกษตรดังกล่าวได้คร่าชีวิตเกษตรไทยมายาวนาน ขณะที่ประชาชนที่เสียภาษีซึ่งอยู่ในฐานะผู้บริโภคก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารตกค้างในผัก-ผลไม้ได้เช่นกัน ดังนั้น ผลการประชุมของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ในวันนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และไขข้อข้องใจเรื่องความโปร่งใสในการทำงานทั้งของข้าราชการประจำและรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่อาสาเข้ามารับใช้ประชาชน