xs
xsm
sm
md
lg

เผยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯส่งหนังสือกดดันไทย ก่อนกลับลำยกเลิก-เลื่อนแบนสารพิษอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพจากรอยเตอร์
เอเอฟพี - สื่อต่างประเทศรายงานในวันพุธ(27พ.ย.) ไทยกลับลำตัดสินใจยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซต และชะลอการแบนสารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน หลังถูกกดดันจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของประเทศ และมีขึ้นหลังจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯส่งจดหมายถึงไทย ขอให้เลื่อนการแบนออกไป

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ไกลโฟเซต ยากำจัดวัชพืชที่รู้จักกันดีในแวดวงการค้าในนาม "ราวด์อัพ" คือสายล่อฟ้าของประเด็นถกเถียงในครั้งนี้ ด้วยมีโจทก์มากกว่า 42,700 รายในสหรัฐฯ ที่ยื่นฟ้องเอาผิดกับบริษัท ไบเออร์ แห่งเยอรมนี ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทุ่มเงิน 63,000 ดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการของมอนซานโต ผู้ประกอบด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรของสหรัฐฯ ด้วยกล่าวโทษว่ายากำจัดวัชพืชที่ใช้สารเคมี “ไกลโฟเซต” เป็นต้นตอทำให้พวกเขาล้มป่วยต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงเป็นมะเร็ง

อย่างไรก็ตามเอเอฟพีระบุว่ามันยังเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรในไทย หนึ่งในประเทศผู้ผลิตข้าวและน้ำตาลชั้นนำของโลก และเป็นในชาติที่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชหนักหนาสากรรจ์ที่สุดในภาคเกษตรกรรม ที่มีแรงงานคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด

เอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาเชื่อมโยงไกลโฟเซต, พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสกับอาการป่วยต่างๆนานา และเมื่อเดือนที่แล้ว ไทย ตัดสินใจว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจะถูกห้ามใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามในวันพุธ(27พ.ย.) คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยกลับมีมติอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตอย่างจำกัดต่อไป เอเอฟพีรายงานโดยอ้างคำแถลงของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆเพิ่มเติม โดยเขาบอกแต่เพียงว่า "การตัดสินใจของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นเอกฉันท์ ยังอนุญาตให้เกษตรกรใช้สารเคมีอันตายอีก 2 ชนิด พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2020"

พาราควอต สารกำจัดวัชพืชที่ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐฯเรียกว่าเป็น "สารพิษร้ายแรง" ถูกแบนในสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่ผลการศึกษามากมายได้เชื่อมโยง คลอร์ไพริฟอส กับภาวะพัฒนาการที่ล่าช้าในเด็ก

บริษัทผู้ผลิต "มอนซานโต" บริษัทลูกของไบเออร์ ยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์สัญชาติเยอรมนี อาจถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินชดเชยหลายพันล้านดอลลาร์ แม้ผู้บริหารระดับสูงของพวกเขายืนกรานว่าหน่วยงานผู้ควบคุมกฎระเบียบชั้นนำของโลกทั้งหลายต่างเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมนั้นมีความปลอดภัย

ยากำจัดวัชพืชยังคงเป็นที่นิยมในหมู่แรงงานภาคเกษตรกรรม อันเนื่องจากประสิทธิภาพของมันและต้นทุนระดับต่ำ ขณะที่มันยังคงถูกใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ

รายงานของเอเอฟพีระบุว่าคำสั่งแบนี้มีขึ้นหลังจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯได้เขียนหนังสือหลายฉบับส่งถึงไทย ร้องขอให้เลื่อนการแบนสารพิษอันตราย โดยบอกว่ามันอาจกระทบต่อการส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลีไปยังประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ครั้งที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยมีมติให้ยกเลิกใช้ ไกลโฟเซต, พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม สหรัฐฯได้ทำการประท้วง โดยกล่าวหาไทยไม่ยึดหลัฐานทางวิทยาศาสตร์จากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังอ้างด้วยว่า ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีจำกัดศัตรูพืชที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก และอ้างการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนโดยสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐาฯ (EPA) ที่บอกว่าไกลโฟเซตไม่มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์


กำลังโหลดความคิดเห็น