ธสน. ชี้มูลค่าส่งออกโลกหดตัวในรอบ 3 ปี โดย 6 เดือนแรกของปี 62 ลดลง 2.8% หรือ 2.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกไทยหดตัว 2.9% หรือ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ประเทศคู่ค้าของไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและยุโรปส่งออกหดตัว แนะผู้ส่งออกวางแผนระยะยาวลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เพื่อทำให้สินค้าและบริการของไทยมีมูลค่าเพิ่มและแข่งขันได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ หรือมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงผลการทำสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อว่า มีส่วนทำให้มูลค่าส่งออกของโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยข้อมูลล่าสุดจากองค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า การส่งออกรวมของทั้งโลก 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัว 2.8% หรือมูลค่าส่งออกลดลงราว 268,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.3% ของ GDP โลก ขณะที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีนเป็นสัดส่วน 11% และ 12% ตามลำดับ ได้รับผลกระทบจากการส่งออกหดตัว 2.9% หรือส่งออกลดลงกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าบางรายการจากไทยทดแทนสินค้าจีนที่มีราคาแพงขึ้นจากภาษี ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในครึ่งแรกปี 2562 ขยายตัวถึง 17% แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้ากว่า 55% ของ GDP ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่ หรือราว 80% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้เช่นกัน
กรรมการผู้จัดการ ธสน. กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่รุนแรงเท่ากับอีกหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกับจีนเป็นสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้ ประเทศที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากกว่าจีนได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่พึ่งพาตลาดจีนมาก เช่น เกาหลีใต้ส่งออกไปจีนสูงถึง 27% ต้องประสบกับการส่งออกหดตัวถึง 8.6% หรือส่งออกได้ลดลงกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับทางออกในระยะสั้นของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ การเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง และละตินอเมริกา โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งกำลังซื้อยังเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
นายพิศิษฐ์ ย้ำว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ส่วนทางรอดของผู้ประกอบการไทยในระยะยาวนั้น ควรต้องปรับตัวไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือกิจการที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกในอนาคตข้างหน้า สามารถอยู่รอดและขยายธุรกิจได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้ายืดเยื้อหรือมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-curve ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เช่ร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น