"สมคิด" แจง รบ.ไม่ได้ตัดงบวิจัยมหา'ลัย ไม่ต้องกังวล แต่การเสนอขอทำวิจัยต้องมีเหตุผล ขอให้เน้นจับมือเอกชนผลิตคนตามความต้องการประเทศ และทำวิจัย ดึงบีโอไอหนุนงบประมาณ เพิ่มรายได้สถาบันและอาจารย์
วันนี้ (28 ต.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างมอบนโยบายเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ว่า การผลิตและพัฒนากำลังคนเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของรัฐบาล แต่อุปสรรคใหญ่ คือ จำนวนแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางสาขาก็เกิน จึงมอบหมายให้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประชุมและหารือทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยถึงจำนวนการผลิตที่เหมาะสมและงบประมาณที่ใช้ โดยให้เสนอมาที่ตน อย่างไรก็ตาม โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตกำลังคนตามลำพังได้ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน โดยจะให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นฝ่ายให้การสนับสนุน ทั้งระดับประกาศนียบัตร และปริญญา รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาล ส่วนสาขาอื่นก็ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ต้องปรับให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัล นำระบบออนไลน์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเสริมการเรียนการสอนและการผลิต
“มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันวิจัยในการทำวิจัย เพื่อพัฒนาเรื่องต่างๆ ขณะที่ อว. ก็ควรแก้ระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยกับเหตุการณ์ ให้อาจารย์ที่ทำวิจัยได้รับผลประโยชน์ส่วนแบ่งรายได้จากงานวิจัยที่ตนเองมีส่วนร่วมทำด้วย อาจารย์จะได้มีกำลังใจในการทำวิจัย ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ไม่ได้ตัดงบวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปการขอทำวิจัยต้องมีเหตุมีผล ดังนั้น ไม่อยากให้ไปกังวลเรื่องงบมากนัก ขอให้มุ่งไปที่การผลิต จับมือกับภาคเอกชนเพื่อที่จะได้รู้ว่าโลกไปไกลถึงไหน ส่งผลต่อรายได้มหาวิทยาลัยและรายได้ของอาจารย์ ” นายสมคิด กล่าว
ด้าน นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชการมงคล (มทร.) มีศักยภาพที่จะตอบโจทย์ประเทศที่แตกต่างกัน โดยกลุ่ม ทปอ. มีศักยภาพรองรับ 10 อุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่ง ทปอ.มทร. และ อาชีวศึกษา ก็จะต้องร่วมกับสภาอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์แรงงานในภาคการผลิต ส่วน ทปอ.มรภ. จะร่วมกับ สภาหอการค้า ลงไปช่วยกันพัฒนาพื้นที่ทั้งด้านการเกษตร และ การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งการพบกันครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เรากำลังเตรียมการหลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนาแรงงานในตลาดแรงงานในขณะนี้ กว่า 38 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าได้รับผลกระทบจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย จากนั้นก็จะการพัฒนาหลักสูตรระยะยาวที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับให้สอดรับกับความต้องการของภาคเอกชน นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนแรงงาน ซึ่งจะต้องชัดเจนว่า ตลาดแรงงานต้องการกำลังคนจำนวนเท่าไร ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่ง อีอีซี ระบุความต้องการ 4-5 แสนคน และทุกฝ่ายก็พยายามตอบสนองในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อได้ภาพความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว ก็จะนำมาเชื่อมโยงกับภาคการผลิตซึ่งมีมหาวิทยาลัยเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนตั้งสถาบันการฝึกอบรมของตนเองขึ้นมา เพื่อยกระดับแรงงานของตนเอง โดยบีโอไอจะให้แรงจูงใจกับภาคเอกชนดังกล่าวต่อไป