รอยเตอร์ - บริษัท ไบเออร์ แห่งเยอรมนี กำลังรับมือกับการฟ้องร้องของโจทก์ 42,700 รายในสหรัฐฯ ที่กล่าวโทษว่ายากำจัดวัชพืชที่ใช้สารเคมี “ไกลโฟเซต” เป็นต้นตอทำให้พวกเขาเป็นมะเร็ง มากกว่ายอดรวมของเดือนกรกฎาคมถึง 2 เท่า และมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องสูญเงินเพื่อไกล่เกลี่ยยอมความมากขึ้นไปอีกในอนาคต
คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่าท้ายที่สุดแล้ว ไบเออร์จะยอมจ่ายเงินชดเชยเพื่อซื้อตัวเองให้หลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี ด้วยพวกนักวิเคราะห์ประมาณการว่า ณ ปัจจุบัน การขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทใดๆในอนาคต อาจต้องใช้เงินราว 8,000 ถึง 12,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
สาเหตุที่มีการยื่นฟ้องมากขึ้นเพราะฝ่ายโจทก์ทุ่มโฆษณาทางโทรทัศน์เพิ่มขึ้นราวสองเท่าในช่วงไตรมาสสามของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตาม ไบเออร์ระบุว่า จำนวนโจทก์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีผลแต่อย่างใด เพราะบริษัทยังคงเดินหน้ากระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างสร้างสรรค์ตามคำสั่งของผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางในรัฐแคลิฟอร์เนีย
“สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จำนวนการฟ้องร้องคดี ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับความถูกผิด” แวร์เนอร์ เบามันน์ ซีอีโอของไบเอร์กล่าว “จำนวนการฟ้องร้องไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สัดส่วนปริมาณการยุติคดี”
ไบเออร์ เมื่อปีที่แล้วทุ่มเงิน 63,000 ดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการของมอนซานโต ผู้ประกอบด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรของสหรัฐฯ เปิดจำนวนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 มีกำไรที่ได้ปรับแล้ว (adjusted income) ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย เพิ่มขึ้น 7.5% เป็น 2,300 ล้านยูโร (2,600 ล้านดอลลาร์) เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมายไว้
หุ้นของไบเออร์ปรับขึ้น 1.9% ในดัชนีบลูชิปของเยอรมนี ทว่า หุ้นของทางบริษัทฯ สูญมูลค่าลงมาราวๆ 30% มานับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน เมื่อครั้งที่คณะลูกขุนแคลิฟอร์เนียพิพากษาคำฟ้องในคดีแรก พบว่า มอนซานโตควรต้องติดป้ายเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อจากการใช้ยากำจัดวัชพืชที่ใช้สารเคมีไกลโฟเซตของพวกเขา อย่างเช่นยาฆ่าหญ้ายี่ห้อราวด์อัพ
พวกนักวิเคราะห์บอกว่า การดิ่งลงของหุ้นไบเออร์สะท้อนว่าตลาดคาดหมายว่าท้ายที่สุดแล้วการฟ้องร้องคดีจะก่อความเสียหายแก่บริษัทสูงสุดถึง 20,000 ล้านดอลลาร์
ไบเออร์ปฏิเสธถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯ โดยอ้างว่าคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบและการวิจัยอย่างครอบคลุมพบว่าไกลโฟเซตมีความปลอดภัย โดยทางบริษัทฯ หวังว่าศาลอุทธรณ์สหรัฐฯจะตัดสินในช่วงในต้นปีหน้า กลับคำตัดสิน 3 คดีแรกที่มีการพิพากษาจนถึงตอนนี้ ที่สั่งให้ทางบริษัทจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์รายละหลายสิบล้านดอลลาร์
อนึ่ง ไกลโฟเซต เป็น 1 ใน 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยเพิ่งมีมติให้ยกเลิกใช้ เนื่องจากพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนาน ความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้เกิดการประท้วงมาจากสหรัฐฯ โดยวอชิงตันกล่าวหาไทยไม่ยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังอ้างด้วยว่า ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีจำกัดศัตรูพืชที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก และอ้างการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนโดยสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐาฯ (EPA) ที่บอกว่าไกลโฟเซตไม่มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์