ส่งออก ต.ค.ลดลง 4.54% เหตุได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง และมูลค่าส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดหนัก แต่ยังมีข่าวดีผลกระทบจากสงครามการค้าเริ่มบรรเทาลง ทำยอดส่งออกคอมพิวเตอร์เพิ่มครั้งแรกในรอบ 13 เดือน แผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มในรอบ 2 เดือน คาดทั้งปีลบไม่ถึง 2% ส่วนปี 63 เป็นบวกแน่นอน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. 2562 มีมูลค่า 20,757.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.54% เป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เพราะการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางจากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลงในรอบหลายปี ทำให้มีการนำเข้าสินค้าลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันที่ทำให้มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดลงถึง 35.40% และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลด 25.8% แต่หากหักมูลค่าการส่งออกน้ำมันและทองคำออก จะเหลือติดลบเพียง 1% เท่านั้น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,251.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.57% โดยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 506.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่การส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 207,329.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.35% การนำเข้ามีมูลค่า 199,441.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.09% เกินดุลการค้ามูลค่า 7,887.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะลดลงแต่ก็เริ่มเห็นข่าวดี เพราะการส่งออกสินค้าหลายตัวเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายการที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบเป็นบวกได้ในรอบ 13 เดือน มูลค่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่มาตรการภาษีภายใต้สงครามการค้าจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบเดือนก.ย. 2561 และแผงวงจรไฟฟ้าเป็นบวกได้ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา
ส่วนสินค้าเกษตรและอาหารก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น เช่น น้ำตาลทราย, ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ, เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว, แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และนาฬิกาและส่วนประกอบ แต่ยังมีสินค้าที่การส่งออกยังคงลดลง เช่น ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ยางพารา, กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป, สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
สำหรับตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ยังคงหดตัว ทั้งสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 8.8% อาเซียน (9 ประเทศ) ลด 9.3% จีน ลด 4.2% อินเดีย ลด 17.2% ฮ่องกง ลด 3.4% เกาหลีใต้ ลด 1.15% ทวีปออสเตรเลีย ลด 7.1% ละตินอเมริกา ลด 13.2% รัสเซียและซีไอเอส ลด 10.8% เว้นสหรัฐฯ เพิ่ม 4.8% ญี่ปุ่น เพิ่ม 0.5% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 97%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้คาดว่าการส่งออกเดือน พ.ย. 2562 น่าจะยังติดลบอยู่ แต่จะเป็นบวกในเดือน ธ.ค. 2562 เพราะเดือน ธ.ค. 2561 ฐานต่ำมาก มีมูลค่าเพียง 19,400 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 น่าจะขยายตัวติดลบ 1.55-1.60% ไม่น่าจะติดลบถึง 2% ส่วนปี 2563 ประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะบวกได้ใกล้เคียง 2% แต่ต้องรอเป้าหมายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง