xs
xsm
sm
md
lg

ปูดแก๊งเหลือบสุวรรณภูมิกินหัวคิว “ห้องกักผู้โดยสาร” สายการบินไม่มั่นใจบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - ปูดแก๊งเหลือบสุวรรณภูมิสมรู้ร่วมคิดคุมผลประโยชน์ “ห้องกักผู้โดยสาร” หรือ “ห้องพักผู้โดยสารรอส่งกลับ” โดยไม่มีสัญญาจ้างที่ถูกต้อง สายการบินแฉ ทอท.ปล่อยสวมสิทธิ์กินหัวคิวเกือบปีแล้ว ยันไม่กล้าจ่ายค่าบริการ เหตุไร้สัญญาไม่มีผลทางกฎหมาย กังวลเกิดผู้โดยสารหลบหนีไม่มีใครรับผิดชอบ ส่วนบัตรฟาสต์แทร็กยังหาซื้อได้ทั่วไป ตอกย้ำธุรกิจสีเทาเกลื่อนสุวรรณภูมิ
 
รายงานข่าวจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแจ้งว่า ขณะนี้มีความไม่ชอบมาพากลในการบริหารจัดการห้องพักผู้โดยสารรอส่งกลับ หรือ Detention Room สำหรับให้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาแล้วมีปัญหาไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ หรือผู้โดยสารที่มีปัญหาการเมือง ก่อการร้าย เป็นต้น ซึ่งสายการบินที่ผู้โดยสารเดินทางนั้นจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ที่พัก อาหาร ขณะที่สนามบินจะต้องจัดหาพื้นที่ภายในสนามบินให้ผู้โดยสารเป็นห้องพักรอหรือห้องกักผู้โดยสารต้องห้ามดังกล่าว

ที่ผ่านมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ทำสัญญากับ บริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ อะวิเอชั่นส์ จำกัด เพื่อให้ดูแลรักษาความปลอดภัยห้องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2550 เป็นต้นมา โดยในสัญญามีเงื่อนไขให้บริษัทฯ ชำระค่าตอบแทนการประกอบการ 5% ของรายได้แต่ละเดือนกับ ทอท. ซึ่งบริษัทฯ จะมีหน้าที่ในการจัดหาอาหาร และดูแลผู้โดยสารไม่ให้หลบหนี โดยเรียกเก็บเงินจากสายการบินที่ผู้โดยสารใช้บริการ

ทั้งนี้ ล่าสุดพบว่า ทอท.ได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทฯ ดังกล่าว และพบว่ามีกลุ่มบุคคลในนามสมาคมการบินพลเรือนและการท่องเที่ยวไทย (ACATT) เป็นผู้เข้าไปดำเนินการแทน แต่กลับไม่พบว่ามีสัญญาใดๆ กับ ทอท. นอกจากนี้ยังพบว่าสมาคมฯ ดังกล่าวได้ จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่งจากภายนอกให้เข้าไปทำดำเนินการแทนอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการปรับขึ้นค่าบริการจากเดิม 580 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 800 บาทต่อคนต่อวันอีกด้วย

แหล่งข่าวจากสายการบินได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สายการบินรู้สึกไม่มีความมั่นใจในการบริหารจัดการห้องพักผู้โดยสารรอส่งกลับ เนื่องจากกลุ่มสมาคมดังกล่าวไม่มีสัญญากับ ทอท. อีกทั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยที่จะเข้าไปภายในพื้นที่หวงห้ามของสนามบินนั้นจะต้องมีใบอนุญาตด้วยหรือไม่อย่างไร เมื่อเกิดความไม่โปร่งใสเช่นนี้ ทำให้สายการบินไม่กล้าจ่ายค่าบริการที่ถูกเรียกเก็บ    

“เรื่องนี้สายการบินรู้สึกไม่สบายใจ ระบบการเข้ามารับงานไม่มีที่มาที่ไป และไม่มีสัญญาอย่างถูกต้อง มองว่าน่าจะเป็นขบวนการ มีการกินหัวคิวกัน ซึ่ง ทอท.ควรให้ความสำคัญต่อเรื่องเหล่านี้ เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อความเชื่อมั่น”

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ จุดดังกล่าวเป็นพื้นที่หวงห้าม การที่มีกลุ่มคนเข้าไปทำธุรกิจโดยไม่มีสัญญานั้นทำได้หรือไม่ ขณะที่มีสายการบินกังวลว่าหากมีกรณีผู้โดยสารหลบหนี หรือสร้างความเสียหายขึ้นในสนามบินจะไม่มีผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นการดำเนินงานที่ไม่มีสัญญาและไม่มีการประกันตามกฎหมาย นอกจากนี้ ทอท.ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเคยมีสัญญาดำเนินงานกับเอกชนอย่างถูกต้อง ต้องสูญเสียรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 แม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มาก แต่อยากเรียกร้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบเพราะถือเป็นการละเลยปฏิบัติหน้าที่หรือไม่  

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีข้อครหาว่าเป็นแหล่งทำมาหากินของกลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์กับผู้บริหารทั้ง ทอท.และ ตม. สร้างเครือข่ายผลประโยชน์กันยาวนานตั้งแต่เปิดสนามบินปี 2549 โดยก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้ตรวจสอบพบมีการจำหน่ายบัตร Premium Lane ให้แก่ผู้โดยสารทั่วไปที่ต้องการผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองทางช่อง Premium Lane โดยสามารถซื้อผ่านบริษัท ทัวร์ และบริษัทเอกชน สั่งซื้อตรงหรือผ่านเว็บไซต์ได้ในราคาขั้นต่ำ 200 บาทต่อใบ ไปจนถึง 900-1,000 บาทต่อใบต่อคน ซึ่งผิดเงื่อนไขที่กำหนดให้เป็นช่องทางพิเศษเฉพาะ สำหรับเจ้าหน้าที่ทูต ลูกเรือ ผู้ที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้พิการ และผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินธุรกิจการบินประเทศไทย (AOC) และกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2  ได้มีข้อตกลงร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มเติม

โดยผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิได้ชี้แจงว่า AOC ได้หาบริษัทเอกชนมารับทำบัตร Priority Pass และบริษัทเอกชนดังกล่าวจะเรียกเก็บเงินจากสายการบินตอนสิ้นเดือนตามจำนวนที่แต่ละสายการบินใช้ไป ซึ่งสายการบินจะเป็นผู้แจกบัตร Premium Lane ให้แก่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจของแต่ละสายการบิน พร้อมกันนี้ ทอท.ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบการผ่านเข้าช่อง Priority Lane โดยต้องมีหนังสือเดินทาง บัตรโดยสารชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจ และบัตร Premium Lane ที่ต้องมีเที่ยวบิน และชื่อผู้โดยสารในบัตรที่นั่งตรงกับหนังสือเดินทางเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบยังพบการจำหน่ายบัตร Priority Pass ผ่านเว็บไซต์ทัวร์ตามปกติ แสดงให้เห็นว่าระบบการตรวจสอบไม่ได้เป็นไปตามที่ ทอท.ระบุ

จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้จ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่งรับดำเนินการบัตร Premium Lane รวมถึงจำหน่ายให้สายการบินสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ การที่สามารถนำออกมาจำหน่ายกับผู้โดยสารทั่วไปได้จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่ามีขบวนการผู้มีอำนาจที่ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจนี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวสามารถตรวจเช็กจำนวนบัตรที่ออกให้บุคคลเฉพาะ และจำหน่ายให้สายการบิน เปรียบเทียบกับจำนวนบัตรที่ยื่นผ่าน ตม.ในแต่ละวันได้ว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นมีข้อมูลว่า ในแต่ละวันมีบัตร Premium Lane ที่ ตม.สูงกว่าจำนวนที่ขายให้สายการบินและให้ผู้โดยสารพิเศษหลายเท่า จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าบัตรเหล่านี้มาจากไหน? และหากมีการนำไปขายแล้วเงินรายได้นี้ไปอยู่ตรงไหน?


กำลังโหลดความคิดเห็น