xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ถกกลุ่มยานยนต์-ชิ้นส่วน วางแผนชี้แจงสหรัฐฯ สกัดถูกขึ้นภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ถกเอกชนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนติวเข้มข้อมูลชี้แจงสหรัฐฯ หลังเปิดไต่สวนขึ้นภาษีนำเข้า ยันส่งออกไทยไม่กระทบอุตสาหกรรมภายใน ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม มีแต่ช่วยสนับสนุนการเติบโต คาดสหรัฐฯ สรุปผลการพิจารณา มี.ค. 62 และส่งให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสิน เผยเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ที่เจอมาตรการก่อนหน้าได้รับผลกระทบแล้ว ยอดส่งออกลดลง แต่เหล็กและอะลูมิเนียมยังขอยกเว้นภาษีได้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมาหารือเพื่อจัดทำความเห็นที่เป็นลายลักษณ์อักษรของไทย ส่งไปให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาหลังเปิดไต่สวนผลกระทบจากการนำเข้ารถยนต์อเนกประสงค์ รถตู้ รถบรรทุกขนาดเล็กและชิ้นส่วนยานยนต์ ตามมาตรา 232 กฎหมาย Trade Expansion Act ปี 1962 โดยเห็นว่าควรจะให้ข้อมูลพร้อมสถิติและการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้สหรัฐฯ เห็นว่าการส่งออกของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยจะส่งภายในวันที่ 22 มิ.ย. 2561 และจากนั้นสหรัฐฯ จะใช้เวลาในการพิจารณา 270 วัน และสรุปผลเสนอให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พิจารณาว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าหรือไม่ภายใน 90 วัน

สำหรับข้อมูลที่จะจัดส่งให้สหรัฐฯ เช่น อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลทางด้านความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ, ผลกระทบของการแข่งขันจากต่างประเทศต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนกำลังลง, การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ ที่จำเป็นเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การให้ข้อมูลกับสหรัฐฯ ภาคเอกชนไทยต้องย้ำให้เห็นว่าไทยไม่ได้เป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายสำคัญไปสหรัฐฯ จึงไม่ใช่คู่แข่ง และไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องให้ข้อมูลว่าชิ้นส่วนจากไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ สินค้าไทยจึงมีส่วนสนับสนุนการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ มากกว่าเป็นคู่แข่ง และยางรถยนต์ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวนมากก็ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในพิกัดศุลกากรที่เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ แต่อยู่ในพิกัดผลิตภัณฑ์ยาง จึงต้องระบุไปว่าไทยไม่ควรถูกใช้มาตรา 232

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรา 01 กฎหมายการค้าก่อนหน้านี้ พบว่า มีสินค้าไทยได้รับผลกระทบแล้ว คือ เครื่องซักผ้า และแผงโซลาเซลล์ เพราะหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศกำหนดโควตานำเข้า โดยเมื่อมีการนำเข้าเต็มโควตาแล้ว สหรัฐฯ ก็จะเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค. 2561 มูลค่าการค้าเครื่องซักผ้าของไทยไปสหรัฐฯ ลดลงถึง 40% ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ก็ลดลงเช่นกัน

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรา 232 กฎหมาย Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีความไม่สะดวก เพราะผู้ประกอบการเหล็กของไทยต้องประสานให้ผู้ซื้อของสหรัฐฯ ทำเรื่องขอยกเว้นการเก็บภาษีจากไทยต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยบางรายได้รับการยกเว้นแล้ว ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ส่งออกของไทยในสินค้าที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการดังกล่าวควรหาตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น