“พาณิชย์” เผยส่งออกไทยเดือน พ.ค.มีมูลค่า 22,256.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.44% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ส่วนยอดรวม 5 เดือน เพิ่ม 11.55% ระบุสงครามการค้ายังไม่ส่งผลกระทบ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ นัดภาครัฐและเอกชนประเมินสถานการณ์ 26 มิ.ย.นี้ เล็งประเมินเป้าส่งออกใหม่ หลังได้ตัวเลข 6 เดือน คาดโตขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 8% แน่
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 2561 มีมูลค่า 22,256.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.44% เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 การนำเข้ามีมูลค่า 21,053 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.72% เกินดุลการค้ามูลค่า 1,203.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดรวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 104,031.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.55% สูงสุดในรอบ 7 ปี และการนำเข้ามีมูลค่า 102,154.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เกินดุลการค้า 1,877.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
“จากการติดตามการส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.ยังไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ประมาท มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพบว่าเบื้องต้นยังไม่กระทบไทย แต่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพการค้าโลก ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 26 มิ.ย.นี้ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ส่งออกรายสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประเมินสถานการณ์ เพราะสินค้าไทยอยู่ในซัปพลายเชนหลายตัว” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดี เพราะการส่งออกในช่วง 5 เดือน ที่เพิ่ม 11.55% ก็เกินไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8% แล้ว โดย สนค.จะมีการประเมินและปรับประมาณการการส่งออกอีกครั้งหลังได้ตัวเลข 6 เดือน คาดว่าน่าจะปรับสูงขึ้น ส่วนตัวเลขทางการขึ้นอยู่กับระดับนโยบายว่าจะปรับหรือไม่อย่างไร แต่หากดูตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับเป็น 9% สนค.มองว่าเป็นไปได้ ซึ่งจะต้องส่งออกให้ได้เดือนละประมาณ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
“การส่งออกที่มองว่าจะขยายตัวดีขึ้นมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แม้ระยะสั้นจะต้องเผชิญกับความผันผวนจากสงครามการค้าของ 2 ประเทศใหญ่ แต่หากดูเศรษฐกิจเป็นรายประเทศ พบว่าสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น และเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ กลุ่มยูโรโซนก็ขยายตัวได้ดี จีนแนวโน้มยังไปได้ดี และญี่ปุ่น แม้ในประเทศยังอ่อนแอ แต่ไทยยังส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีได้ดี และยังมีผลดีจากเงินบาทอ่อนค่าที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกทำตลาดได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องทำประกันความเสี่ยงเพื่อป้องกันความผันผวนด้วย” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว