มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐข้อหาประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท. ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 50 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังรับเป็นคดีหรือไม่ 19 มิ.ย.นี้
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการมูลนิธิฯเห็นชอบให้มูลนิธิฯยื่นฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐข้อหาประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 เพื่อคืนความชอบธรรมต่อประชาชนคนไทยที่ได้รับความเสียหายต่อการประพฤติมิชอบในการคืนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติ โดยศาลได้นัดฟังคำตัดสินว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยฟ้องศาลปกครองเรื่องพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ร่วมกับ น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน น.ส.ภินันท์ โชติรสเศรณี และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ต่อผู้ถูกฟ้อง 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท. ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่18 ธ.ค. 2550 มอบหมายให้ 1. กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
2. ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สิน และ 3. หากมีข้อโต้แย้งด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2558 ทางมูลนิธิฯ น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.ยุญยืน ศิริธรรม ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบมีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือไม่
ซึ่ง คตง.ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ว่าบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีการแบ่งแยกทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหมายเลขคดีแดงที่ ฟ.35/2550และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท (เป็นมูลค่าท่อส่งก๊าซฯ ทางทะเลและบนบกบางส่วนจากมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท.ไม่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง) เนื่องจากทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่งจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ ครม.ได้พิจารณาเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สิน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ตามคำพิพากษาศาล มิได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินของ ปตท. และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของ บมจ.ปตทเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่ต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด