xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นผิด ม.157 “กฤษฎีกา” ชี้ช่องสำนักข่าวกรองอย่าอุ้ม ขรก.ทุจริต เร่งฟัน กก.TOR-ประกวดราคาตกแต่งอาคารสำนักงาน มูลค่า 85 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หวั่นผิด ม.157 “กฤษฎีกา” ชี้ช่อง เจ้าสังกัดอย่าอุ้ม ขรก.ทุจริต เร่งฟัน กก.TOR -ประกวดราคาตกแต่งอาคาร “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” มูลค่า 85 ล้าน ตั้งแต่ ปี 2554 หลัง สตง. แจ้งผลสอบข้อเท็จจริงเห็นควรฟันวินัย-อาญา จ่อส่ง ป.ป.ช. ย้ำ กม.สตง.มีอำนาจส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. สำนักข่าวกรองไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการสอบเพิ่ม เป็นการดำเนินการที่ครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว

วันนี้ (12 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 944/2561 เรื่องการดำเนินการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีใจความว่า สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ที่ นร 0622/533 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า

โดยที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือลับมาก ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0021/948 ลงวันที่ 29 กันยายน 2560 เรื่อง การจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ถึงสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเห็นควรให้ดำเนินการทางวินัยและทางอาญา

ในกรณีมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ กับคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) โครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงาน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ 145/2554 สั่ง ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2554 ประกอบด้วย นายธีรศิลป์ เอี่ยมศิริ นายสาโรจน์ รามรินทร์ นายศักดา ศิริกุล นายวรวุฒิ นิภานันท์ นายนิพนธ์ ชูดำ และนายธรรมศักดิ์ ประเสริฐวัฒนากร และคณะกรรมการประกวดราคาจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงาน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ 216/2554 สั่ง ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายธีรศิลป์ เอี่ยมศิริ นายบำเพ็ญ สะลอยรัมย์ นายนิพนธ์ ชูดำ นางสุปราณี อุนยะวงศ์ นางลัดดา ภูสมศรี และนายธรรมศักดิ์ ประเสริฐวัฒนากร และให้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการอื่นอีก จำนวน 2 รายประกอบด้วย นางจิราพร พบหิรัญ และนางกมลธรรม แก้วบุญทอง

บันทึกยังระบุว่า สำนักข่าวกรองแห่งชาติจึงขอหารือปัญหาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 โดยมีประเด็นในการหารือดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 กำหนดให้เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ให้คณะกรรมการฯ แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว โดยไม่ได้กำหนดให้หน่วยรับตรวจจะต้องไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนอีก ดังนั้น สำนักข่าวกรองแห่งชาติจำเป็นที่จะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนอีกหรือไม่ ทั้งนี้ ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องเสร็จที่ 755/2552

ประเด็นที่ 2 หากดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาของสำนักข่าวกรองแห่งชาติตามมาตรา 46 โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อหามูลความผิดอีก โดยอาศัยเพียงรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น อาจไม่เพียงพอที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติจะสามารถรู้ถึงรายละเอียดและข้อเท็จจริงที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนข้าราชการผู้ถูกกล่าวหา และนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานหลักในการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาได้ ซึ่งอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมและกระทบสิทธิอย่างรุนแรงต่อข้าราชการผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ข้าราชการผู้นั้นมีมลทินมัวหมอง

ทั้งนี้ ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องเสร็จที่ 167/2551 และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ 111/2545 ที่วินิจฉัยในตอนหนึ่งว่าอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็เพียงแต่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แล้วแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยงานผู้รับการตรวจสอบทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนต่อไปเท่านั้น มิได้มีผลบังคับเด็ดขาดให้ผู้รับการตรวจสอบต้องปฏิบัติตามผลการตรวจสอบที่ได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้น การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพียงแต่ส่งหนังสือแจ้งรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเห็นควรให้ดำเนินการทางวินัย นั้น สำนักข่าวกรองแห่งชาติสามารถเลือกที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.) ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ไม่ได้กำหนดให้หน่วยรับตรวจที่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเดิมมีเพียงมาตรา 46[1] แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี

ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่า มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้นแต่เมื่อปัจจุบัน มาตรา 7 และมาตรา 95 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 กำหนดว่าในกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกรณีทุจริต ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งผลการตรวจสอบตามกรณีที่หารือนี้ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปแล้ว

“กรณีจึงเป็นการดำเนินการที่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดแล้วเมื่อเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและพิจารณาส่งเรื่องให้อัยการดำเนินคดีอาญาจึงไม่มีเหตุให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยรับตรวจต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาอีก”

ประเด็นที่ 2 เห็นว่า การดำเนินการทางวินัยของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตามผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้หน่วยรับตรวจต้องดำเนินการทางวินัยโดยผูกพันข้อเท็จจริงตามผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินการดำเนินการทางวินัยของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในกรณีดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีนี้ได้แก่ มาตรา 91วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่เห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้วให้ดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ต่อไป

จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ในทุกกรณีต้องสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่าเป็นกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาตามมาตรา 91 วรรคหนึ่งหากเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ก็ย่อมดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ทันทีประกอบกับข้อ 6 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเร่งรัดติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ. 2546 กำหนดว่า กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตและได้ชี้มูลความผิดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวได้ระบุถึงพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต และได้ระบุชัดเจนถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดว่าได้แก่ผู้ใด พร้อมทั้งพยานหลักฐานในเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำผิดแล้ว สำนักข่าวกรองแห่งชาติก็ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบดังกล่าว โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีกอย่างไรก็ดี ในกรณีที่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวแล้ว แต่สำนักข่าวกรองแห่งชาติละเลยข้อเท็จจริงนั้นและไม่ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ก็อาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญาหรือเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอันอาจเป็นความผิดทางวินัย ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอาจแจ้งให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปทั้งนี้ เป็นไปตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในเรื่องเสร็จที่ 326/2550 และความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 36/2552 ซึ่งแนวความเห็นดังกล่าวมิได้ขัดหรือแย้งกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในเรื่องเสร็จที่ 167/2551ที่ให้ความเห็นสรุปได้ว่า

“ในกรณีที่ผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินระบุเพียงแต่พฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตโดยมิได้มีการระบุตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด หน่วยรับตรวจที่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงหรือคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปได้”

ในส่วนของคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ 111/2545 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2545 (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา) นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าผลการตรวจสอบดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการกระทบสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีอันทำให้มีสิทธิฟ้องคดี ศาลจึงไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา

มีรายงานว่า สำหรับ (TOR) โครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงาน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อยู่ในโครงการโครงการก่อสร้างอาคารสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ถ.พหลโยธิน งบประมาณก่อสร้าง 85,650,000 บาท เป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี (2552-2554) ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 1 หลัง 80,827,643 บาท อาคารประชสัมพันธ์ 1,470,722 บาท และงานผังบริเวณ 3,351,635 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น