ผู้ค้าจตุจักรส่อพ่ายทุกคดี หลังศาล ปค.สูงสุด วินิจฉัย ร.ฟ.ท. มีอำนาจบริหารตลาดนัด - ขึ้นค่าเช่าแผงค้า เพื่อเอารายได้มาบริหารกิจการรถไฟ ด้านกลุ่มผู้ค้าอีก 807 ราย ยันสู้คดีถึงที่สุด ยกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาที่ระบุ รฟม. เอาที่ดินจตุจักรทำตลาดไม่ได้ขึ้นอุทธรณ์
วันนี้ (31 พ.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายร่มเกล้า เอี่ยมโพธิ์ และพวกรวม 146 ราย ซึ่งเป็นผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. และ ผอ.บริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 3 กรณีขอให้ศาลเพิกถอนประกาศการปรับขึ้นอัตราค่าเช่าแผงค้าในตลาดนัดจตุจักร เหตุเกิดเมื่อปี 2555 โดยศาลให้เหตุผลว่า ตาม พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 ได้บัญญัติให้ ร.ฟ.ท. มีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ที่จะนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ฯลฯ และดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟอันสอดคล้องกับสิทธิในทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2550 และตามหลักกฎหมายแพ่ง ดังนั้น การที่ ร.ฟ.ท. มาดำเนินการกิจการตลาดนัดจตุจักร หลังไม่ต่อสัญญาให้ กทม. จึงเป็นการยกเลิกวัตถุประสงค์การจัดตลาดนัดเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับราษฎรตาม พ.ร.บ. บริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 การบริหารตลาดนัดจตุจักรในระยะต่อมาจึงเข้าข่ายเป็นการสร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท. เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำภารกิจด้านการบริการสาธารณะเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งให้บรรลุผล ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 ร.ฟ.ท. จึงมีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวออกให้เช่า หรือดำเนินกิจการตลาดนัดจตุจักรได้ และการกำหนดอัตราค่าเช่าแผงค้าใหม่เป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทานของตลาด เป็นดุลพินิจของ ร.ฟ.ท. ในการกำหนดอัตราเช่าที่เห็นว่าเหมาะสมได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่เห็นด้วยที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนประกาศของ ร.ฟ.ท. จึงพิพากษากลับเป็นยกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าตลาดนัดจัตุจักรอีก 807 คน นำโดย นายวีระพจน์ เพชรชำนาญ ก็ได้มีการยื่นฟ้องประเด็นเดียวกัน หลัง ร.ฟ.ท. มีประกาศปรับขึ้นค่าเช่าแผงค้าในปี 2557 ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาในวันนี้ให้เพิกถอนประกาศ ร.ฟ.ท. ที่ จต. 159/2557 ลงวันที่ 20 ก.พ. 57 ที่กำหนดเงื่อนไขการต่อสัญญาเช่า ว่า ผู้เช่าที่ยื่นฟ้อง ร.ฟ.ท. ต่อศาลปกครองและขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ชำระค่าเช่าตามที่ร.ฟ.ท. กำหนด ร.ฟ.ท. ไม่รับพิจารณาการต่อสัญญา จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เพื่อตัดสิทธิการต่อสัญญาเช่าให้กับผูฟ้องคดีทั้งหมด โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 20 ก.พ. 57 ส่วนคำขออื่นให้ยกฟ้อง โดยศาลเห็นว่า ร.ฟ.ท. มีอำนาจในการจัดหาประโยชน์ในสินทรัพย์ของตนเอง รวมถึงดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อ ร.ฟ.ท. ได้ เมื่อการจัดหารายได้ตลาดนัดจตุจักร เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ ร.ฟ.ท. ตาม พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 ร.ฟ.ท. จึงมีอำนาจในการบริหารกิจการตลาดนัดจตุจักรตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 529/2560 ที่ได้วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ร.ฟ.ท. มีอำนาจบริหารกิจการตลาด แต่การที่ ร.ฟ.ท. กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้เช่าแผงค้าที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและไม่ได้รับการพิจารณาต่อสัญญาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้นเป็นการกำหนดเงื่อนไขสัญญาเช่าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองจึงต้องพิพากษาให้เพิกถอนเงื่อนไขดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษาตัวแทนกลุ่มผู้ค้าในคดีนี้ประมาณ 300 คน ซึ่งเดินทางมาฟ้งคำพิพากษามีสีหน้าไม่สู้ดี แต่ก็ยังยืนยันว่า จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ซึ่ง นายวิชาญ ดวงฤทธิ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด การอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดก็จะยื่นใน 2 ประเด็น คือ 1. กฎหมายไม่ให้อำนาจ ร.ฟ.ท. ในการทำตลาด 2. วัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินตลาดนัดจตุจักร เมื่อปี 2520 ก็เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ และมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาปี 2524 ว่า การรถไฟไม่สามารถนำที่ดินดังกล่าวไปทำกิจการอื่น นอกเหนือจากทำกิจการรถไฟ