ราชบุรี - พ่อนักเรียนนายร้อยตำรวจชยากร พุทธชัยยงค์ ที่เสียชีวิตในการฝึกกระโดดร่มเมื่อมีนาคม 2557 เตรียมยื่นศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรมเพิ่ม หลังไม่พอใจในคำตัดสินของศาลเพชรบุรีที่ให้ สตช.จ่ายชดเชยเพียง 2 ล้านเศษ
จากกรณี เมื่อวันที่ 21 พ.ค.61 ศาลปกครองเพชรบุรี มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ครอบครัว นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ และครอบครัวนรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 2 กรณี เข้าฝึกโดดร่มที่ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี แต่ร่มไม่กาง เป็นเหตุให้ให้นรต.ทั้งสองคนตกร่างกระแทกพื้นเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2557
ล่าสุดวันนี้ (22 พ.ค.) นายสาธร พุทธชัยยงค์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16 ถนนทรงพล อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ตำแหน่งครูวิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนวัดดีบอน ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม เผยว่าตนเองการเตรียมเอกสารยื่นขอความเป็นธรรมศาลอุทธรณ์สูงสุด ภายใน 30 วัน หลังจากที่ศาลปกครองเพชรบุรี มีได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 38/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 50/2561 ระหว่างนายสาธร พุทชัยยงค์ ที่ 1 นายจตุรงค์ ติรสุวรรณสุข ที่ 2 นางบุศรา รัตนารีกุลที่ 3 ผู้ฟ้องคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี โดย นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ และ นรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข ที่เข้าไปฝึกโดดร่มที่ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี แต่ร่มไม่กาง เป็นเหตุให้ร่างกระแทกพื้นเสียชีวิต เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557
โดยศาลปกครองเพชรบุรี ได้พิจารณาตัดสินให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของ นรต.ชยากร เป็นเงินค่าปลงศพ จำนวน 277,000 บาท ค่าไร้อุปการะ จำนวน 2,088,000 บาท รวม 2,365,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2558
ส่วนตัวเห็นว่าสินไหมทดแทน หรือที่เรียกว่า ค่าขาดไร้อุปการะนั้น ศาลตัดสินให้เดือนละ 6,000 บาท เฉลี่ยวันละ 200 บาท ดูแล้วมองว่าน้อยไปสำหรับการดำรงชีพ หลังจากนี้ คงต้องอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดต่อไป ภายใน 30 วัน เป็นการอุทธรณ์คำตัดสินของศาลปกครองเพชรบุรี เพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง เพราะด้วยผลของการตัดสินออกมานั้นให้ตนเองซึ่งเป็นพ่อ ถ้าหากเปรียบเสมือนถ้าลูกยังอยู่จะให้เราเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วตกวันละ 200 บาท เปรียบไปแล้วยิ่งว่าแรงงานขั้นต่ำ
ในส่วนของคดีอาญา ตอนนี้สำนวนยังอยู่ที่อัยการสูงสุด ขั้นตอนต่อไป คือ อัยการสูงสุดจะต้องพิจารณาแล้วส่งมาให้ที่อัยการเพชรบุรีกลับคืนมา แล้วจะฟ้องศาลเพชรบุรีต่อไป แต่ว่าสำนวนนี้ยังอยู่ที่อัยการสูงสุดนานหลายเดือนแล้ว ที่ผ่านมา ได้ติดตามสอบถามความคืบหน้าอยู่เป็นระยะก็ยังไม่ได้ส่งมาที่อัยการเพชรบุรีเลย
สำหรับศาลที่ฟ้องไปนั้นมี 3 ศาล ได้แก่ ศาลอาญาที่เป็นคดีอาญา ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของอัยการสูงสุดอยู่ ส่วนศาลแพ่ง มีการฟ้องอยู่ 2 ศาล คือ ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ศาลปกครองเพชรบุรี เหตุผลเพราะว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานภาครัฐจึงต้องฟ้องศาลปกครอง ส่วนศาลแพ่งอีกศาล คือ ศาลแพ่งรัชดา เราฟ้องบริษัทการบินไทย และบริษัทอุตสาหกรรมการบิน
“เรื่องนี้เหตุเกิดมานานกว่า 4 ปีแล้ว รู้สึกว่าคดีช้ามาก จนหลายคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่ในส่วนของความเป็นพ่อแม่นั้นยากที่จะลืม และทรมานมาก เพราะตราบใดที่คดีช้าก็จะต้องวุ่นวายกับคดีความ ทำให้ไม่สามารถลืมเรื่องเก่าๆ ได้สักที แต่ก็จะติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิดต่อไป”
สำหรับสภาพจิตใจขณะนี้ นายสาธร บอกว่า เพื่อนฝูงที่พบหน้ากันหลายคนสอบถามปลอบใจ แต่จะบอกว่า หากใครไม่เจอกับตัวเองคงไม่รู้ ยังรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งดูทีวีอยู่ที่บ้าน และจะมีภาพมุมสูง เพราะใช้โดรนถ่ายภาพ ตนเองจะคอยถือรีโมตทีวีไว้ตลอดเวลา ถ้าเกิดมีภาพมุมสูงเกิดขึ้นก็จะรีบเปลี่ยนช่องทันที เพราะมองแล้วเหมือนกับหัวใจถูกบีบจนทนไม่ไหวด้วยอาการทางจิตใจ ขณะนี้ยังคงมีอยู่แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว คนอื่นคิดว่าดีขึ้น แต่กับตนเองจะยังคงรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ อยู่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันนั้น จะต้องประสานกับทนายความเพื่อทำคำอุทธรณ์ให้เร็วที่สุด แล้วนำไปส่งที่ศาลปกครองเพชรบุรี ซึ่งศาลปกครองเพชรบุรี จะเป็นผู้ส่งคำอุทธรณ์ของตนไปยังศาลปกครองสูงสุดเอง ส่วนตัวเองที่เป็นผู้เสียหายมีความพร้อมทุกกระบวนการ แต่ที่ช้าด้วยกระบวนการที่ไม่ได้อยู่ในส่วนของเรามากกว่า