xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายมิ้นท์”แจ้งพี่น้องพันธมิตรฯ ยื่นรับเงินชดใช้จาก สตช.สลายชุมนุม 7 ตุลาฯ ที่ศาลปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง(สูทดำ) ทนายความ - นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ(เสื้อจีน) และพี่น้องพันธมิตรฯ ผู้ได้รับบาดเจ็บสูญเสีย จากการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.51(ภาพจากแฟ้ม)
ทีมทนายความแจ้งพี่น้องพันธมิตรฯ ที่มีชื่อเป็นผู้ฟ้องคดีสลายชุมนุม 7 ตุลาฯ ยื่นคำร้องขอรับเงินที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 21,23,24 และ 25 พ.ค.นี้ ตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยนำบัตรประชาชนและสมุดบัญชีธนาคารไปด้วย

ตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ค.นางสาวพวงทิพย์ บุญสนอง หรือ ทนายมิ้นท์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Puangtip Boonsanong แจ้งให้พี่น้องพันธมิตรฯ ลูกความคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ ที่มีชื่อเป็นผู้ฟ้องคดี ไปยื่นคำร้องขอรับเงินที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ โดยทีมทนายความจะไปช่วยดำเนินการ ในวันจันทร์ที่ 21 พ.ค.,วันพุธที่ 23 พ.ค.,วันพฤหัสบดีที่ 24 พ.ค.,วันศุกร์ที่ 25 พ.ค.เวลา 10.00 - 14.00 น. โดยมีสิ่งที่ต้องนำไปด้วย ได้แก่ 1. สำเนาบัตรประชาชน 2. สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย(ถ้ามี)

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.61 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ และ นายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดรวม 254 คน กรณีได้รับบาดเจ็บเสียหาย จากเหตุ สตช.เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณรอบรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 บาท ถึง 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้ โดยต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามกฎหมายระเบียบ และขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

อีกทั้งหลังเกิดเหตุ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่า ก่อนการใช้แก๊สน้ำตาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แต่อย่างใด ถึงแม้ สตช. และสำนักนายกฯ ทั้งสองจะอ้างว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและอ้างส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวจำนวนหลายคดี แต่ก็ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าวว่าเป็นการกระทำหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรกเวลา 06.00 น. ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดแต่ละรายเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าว และข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมได้รับอันตรายแก่ชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ในระยะเวลาแตกต่างกันหลายครั้งหลายสถานที่ตั้งแต่เริ่มมีการสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เศษ ไม่ใช่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเวลาเดียวกัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากวัตถุระเบิดที่ตนพกพามา


กำลังโหลดความคิดเห็น