“รองฯ ต่อ” ดอดให้กำลังใจ พธม.รับค่าชดเชยจากเหตุสลายชุมนุม 7 ตุลา 51 พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเหลือง-แดงเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลพวงอำนาจรัฐ เตือนให้ระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในการชุมนุมครบรอบ 4 ปีรัฐประหารพรุ่งนี้ เชื่อ “อ.วิษณุ” ใส่แว่นดำทำงานให้รัฐ
วันนี้ (21 พ.ค.) พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีต ผกก.สันติบาล ที่ปรึกษาบริษัท พัฒนาตลาดใหม่ดอนเมือง และผู้ต้องหาคดีกรรโชกทรัพย์ เก็บค่าคุ้มครองผู้ค้าในตลาดใหม่ดอนเมือง เดินทางมาให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เดินทางมารับเงินเยียวยาเหตุสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 โดย พ.ต.ท.สันธนะกล่าวถึงเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวว่า เป็นผลพวงการกระทำของอำนาจรัฐ ตนก็อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น รวมทั้งเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ 19 พ.ค. 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 99 คน ตนเข้าใจในความสูญเสีย และขอแสดงความเสียใจ ซึ่งในคดีของพันธมิตรฯ ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าจะพิสูจน์ได้โดยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ตนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่เช้า รู้ว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นรอง ผบช.น. ใครปฏิบัติกับผู้ชุมนุม ใครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ใครเป็นมือระเบิด และใครที่ฝึกหน่วยอรินทราชเพื่อมาทำร้ายประชาชน ก็ล้วนเป็นเพื่อนของตนทั้งนั้น และตนก็เป็นคนไปบอกคนบัญชาการเหตุการณ์ว่าให้หยุดทำร้ายประชาชน แต่ก็ยังไม่หยุดจนนำมาซึ่งความเสียหาย และนำมาสู่การมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ สตช.ต้องชดใช้ จึงอยากให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ สตช.ต้องเข้าไปดูแลการชุมนุมของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งอาจรวมถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เนื่องวันที่ครบรอบการรัฐประหารของ คสช.ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ สำหรับตนซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 เหมือนกัน แต่ตนก็จะไม่หมอบไม่คลานไปศูนย์กลางอำนาจ เพื่อไม่ให้ใครต้องมาเดือดร้อน
“ในอดีตได้เรียนปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษากับ อ.วิษณุ เครืองาม แม้ไม่ได้จบที่จุฬาฯ เพราะไปเรียนที่ ม.รามฯ ก่อน แต่ยังจำคำสอนได้ว่า อ.วิษณุ เคยพูดว่าคนดีถือกฎหมาย กฎหมายก็จะเป็นธรรม สังคมก็จะชอบธรรม นี่คือหลักนิติธรรม ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ถือกฎหมาย ทำให้สังคมยุ่งเหยิงและส่วนใหญ่อยู่ในรัฐบาล ท่านต้องใส่แว่นตาดำ ซึ่งเชื่อว่าท่านก็เห็น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 พ.ค.นี้เป็นวันแรกที่ศาลปกครองสูงสุดให้ผู้ร่วมชุมนุมและทายาทผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม พธม.จำนวน 260 รายที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ทยอยเดินทางมายื่นคำร้องของรับเงินเยียวยาตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 7 พัน ถึง 4 ล้านบาท แก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว