จ่อชง สนช.! ดัน แก้ กม.6 ฉบับ “ปรับปรุงค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ให้แยกค่าตอบแทน ปธ.-ตุลาการศาล รธน.ออกจากร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนผู้บริหารองค์กรอิสระ พร้อมให้อำนาจทบทวนเงินเพิ่มในลักษณะเดียวกันกับศาลยุติธรรมและศาลปกครองในอนาคต ให้กำหนดค่าตอบแทน กสม.มาไว้ในร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนผู้บริหารองค์กรอิสระ พร้อมรวม 2 ร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง ก.พ.ค.ในองค์กรอิสระและองค์กรตาม รธน. เป็นฉบับเดียวกัน
วันนี้ (16 พ.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รายงานผลการปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาได้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่คณะรัฐมนตรี (13 ก.พ.) สั่งการ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า โดยที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการแต่ละประเภทยังคงมีบทบัญญัติที่กำหนดให้ข้าราชการอาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจได้ โดยกรณีศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอัยการ เมื่อองค์กรดังกล่าวพิจารณากำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแล้ว จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
โดยในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีจะมีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและความเป็นธรรมในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวในส่วนของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอัยการไว้ก่อน
ทั้งนี้ เห็นควรแยกการกำหนดค่าตอบแทนของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มากำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะ สำหรับกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีบทบัญญัติเพื่อให้มีอำนาจพิจารณากำหนดเงินเพิ่มในลักษณะเดียวกันกับศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เห็นควรให้พิจารณาทบทวนบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ ยังเห็นควรนำการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” มากำหนดเพิ่มเติมไว้ในร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
นอกจากนี้ ยังเห็นควรรวมร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นฉบับเดียวกัน
มีรายงานว่า สำหรับมติ ครม.13 ก.พ. ครม.มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เสนอ ได้แก่ 1.1 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... 1.2 ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่...) พ.ศ. ... 1.3 ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... 1.4 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... 1.5 ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ 1.6 ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
“ครม.คราวนั้นได้สั่งการให้สำนักงาน ก.พ.ดำเนินการโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง โดยทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากได้นำเงินเพิ่มค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามร่างพระราชบัญญัติ ข้อ 1.1 และ 1.2 แล้วแต่ละองค์กรจึงไม่ควรมีอำนาจกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพดังกล่าวอีกให้แยกการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1.3 เป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้แยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากองค์กรอิสระเป็นองค์กรศาลแล้ว
ให้กำหนดการมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันกับประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานศาลปกครองสูงสุด ในอัตรา 12,500 บาท/เดือน และ 7,300 บาท/เดือน ตามลำดับ โดยให้เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 โดยให้นำเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวมารวมเป็นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามหลักการเดียวกับกรณีของศาลยุติธรรม และศาลปกครอง
ให้นำการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มากำหนดเพิ่มเติมไว้ในร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1.3 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และองค์กรอิสระอื่น ให้รวมร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1.5 และ 1.6 เป็นฉบับเดียวกันเพื่อความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1.5 และ 1.6เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ได้อนุมัติหลักการการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ได้ปรับเพิ่มเป็น 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท ประธานกรรมการในองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 บาท จากเดิม 74,420 บาท ขณะที่อัยการสูงสุด รองประธานศาลฎีกาหรือเทียบเท่า รองประธานศาลปกครองสูงสุดหรือเทียบเท่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 จากเดิม 73,240 บาท ประธาน ก.พ.ค. กรรมการในองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้รับ 80,540 บาท จากเดิมได้รับ 73,240 บาท ตุลาการศาลยุติธรรมตำแหน่งอื่นชั้น 4 ตุลาการศาลปกครองตำแหน่งอื่นชั้น 3 ได้รับ 76,800 บาท จากเดิม 69,810 บาท โดยจะมีผลหลังกฎหมายประกาศใช้”