xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ “กฟผ.” คนใหม่ชู 7 นโยบายบริหารมุ่งให้คนไทยเห็นคุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย” ผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ แถลงนโยบายต่อผู้ปฏิบัติงาน ย้ำ 7 นโยบายหลักบริหารหวังขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบสายส่งในภูมิภาคอาเซียน เร่งปรับโครงสร้างองค์กร “กฟผ.” ให้คนไทยเห็นคุณค่า กฟผ.ในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 14 ได้แถลงนโยบายต่อผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า แผนงานที่จะให้ความสำคัญมีทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ผลักดันโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ กฟผ.ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP 2015) ให้สำเร็จ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 1-2 รวมถึงโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา รวมถึงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคกลางและภาคใต้ ขนาด 500 เควี เพื่อสร้างความพร้อมให้ประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงระบบสายส่งอาเซียน หรือ ASEAN POWER GRID และรองรับพลังงานหมุนเวียน

“การจัดหาเชื้อเพลิง LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันในปี 2561 และการดำเนินโครงการ FSRU 5 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2567 ซึ่งหาก กฟผ.สามารถดำเนินตามแผนงานได้แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ กฟผ.ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าและรวมถึงพลังงานทดแทนจะมีเพิ่มเติมอย่างไรต้องรอแผน PDP ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะออกในราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561” ผู้ว่าฯ กฟผ.ระบุ

2. ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้น รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้ยอมรับก่อนเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสายส่ง 3. แสวงหาพันธมิตรและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เครือข่ายพันธมิตรเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

4. ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่ออนาคตสู่เวทีโลก เน้นที่การสร้างสิ่งประดิษฐ์และแนวคิดใหม่ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ กฟผ.คิดค้นมาได้ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบอื่นที่ไม่จำกัดเพียงแวดวงพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น 5. สร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจของ กฟผ. รวมถึงการร่วมมือกับเอกชน โครงการประชารัฐ การขยายงานผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ.

6. ปรับโครงสร้างและพัฒนาคน เนื่องจากภายใน 4-5 ปีข้างหน้าจะมีผู้เกษียณอายุกว่า 6,000 คน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับโครงสร้างให้มีความกระชับคล่องตัว โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. หากผ่านความเห็นชอบแล้วจะมีการชี้แจงกับผู้ปฏิบัติงานต่อไป ยืนยันว่าไม่มีการปลดพนักงานแน่นอน นอกจากนี้ ยังจะเร่งสร้างระบบสืบทอดตำแหน่ง (Successor) ทั้งตำแหน่งภายใน กฟผ. และบริษัทในกลุ่ม ทั้งยังจะยึดนโยบายเรื่องลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น (LEAN) เพื่อให้งานขององค์การมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7. ก้าวสู่องค์การแห่งความภาคภูมิใจของประเทศ โดยจะทำอย่างไรให้คนในประเทศเห็นว่าควรมี กฟผ.อยู่ และต้องเห็นค่า กฟผ.ในวันนี้ ไม่ใช่ในวันที่ไม่มี กฟผ.อยู่แล้ว ดังนั้น กฟผ.ต้องแสดงให้เห็นว่า กฟผ.ต้องดำรงอยู่เพื่อความสุขของคนไทย และเป็นกลไกสำคัญของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น