xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ สั่งกรมอุทยานฯ ชดใช้เพิ่ม “ปู่โคอิ” กับพวกแต่ห้ามทำกินในที่ดินเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปู่โคอิที่สองจากซ้าย(แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับสั่งกรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 6 กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปมเผาทำลายทรัพย์สิน เพิ่มเป็น 4-5 หมื่นบาทต่อราย ชี้ “ปู่โคอิ” กับพวกไม่มีสิทธิกลับคืนบ้านใจแผ่นดิน เหตุไม่มีเอกสารสิทธิ ด้าน “ชัยวัฒน์” ลั่นไม่จำเป็นต้องขอโทษ ยันทำเต็มที่เพื่อปกป้องป่า ขณะที่ กสม.เดินหน้าพาชาวบ้านพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม.3 ส.ค. 53

วันนี้ (12 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพกาษาศาลปกครองกลางให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ และพวกรวม 6 คน ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ รวม 301,737 บาท จากกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น เข้าดำเนินการเผาทำลายทรัพย์สิน ยุ้งฉางข้าวของนายโคอิกับพวกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน บ้านใจแผ่นดิน ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เหตุเกิดเมื่อปี 2554 โดยศาลปกครองสูงสุดระบุว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในกรณีดังกล่าว แม้จะเป็นมาตรการหรือวิธีการที่มีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ในการจะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามอำเภอใจหรือโดยพลการ โดยเฉพาะการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นใดของนายโคอิกับพวกอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายเกินสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ กรณีเช่นนี้เจ้าหน้าที่สมควรต้องออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งให้นายโคอิกับพวกจัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินเสียก่อน หากไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการเข้าทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ในทันที ยังต้องแจ้งคำเตือนเป็นหนังสือให้นายโคอิกระทำการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควร ระบุค่าใช้จ่ายหรือจำนวนค่าปรับทางปกครอง ระยะเวลาดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการโดยแจ้งเตือนก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร พร้อมทั้งปิดประกาศคำสั่งแจ้งเตือนก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร จัดทำบันทึกการปิดประกาศไว้เป็นหลักฐาน และภายหลังจากดำเนินการแล้วก็ต้องจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการบัญชีทรัพย์สินที่ทำลายหรือรื้อถอนหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้เก็บรักษาไว้ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ แผนที่สังเขปบริเวณที่ดำเนินการพร้อมภาพถ่าย แล้วนำเรื่องราวทั้งหมดพร้อมพยานหลักฐานไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรแห่งท้องที่ในทันที ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และกำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้ากรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำ และเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายแก่นายโคอิกับพวก อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯต้องรับผิดในผล แห่งละเมิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโคอิ นายแจ พุกาด นายหมี หรือกิตา ต้นน้ำเพชร และนายดูอู้ จีโบ้ง รายละ 51,407 บาท นายบุญชู พุกาด เป็นเงิน 45,302 บาท และนายกื๊อ พุกาด เป็นเงิน 50,807 บาท โดยรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินกรณีนี้ไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษานี้ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ส่วนที่นายโคอิกับพวกขอให้ศาลสั่งให้พวกตนกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น ศาลเห็นว่าเมื่อนายโคอิกับพวกไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายโคอิกับพวกไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้นายโคอิกับพวกกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้

ด้านนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษา กล่าวว่า น้อมรับคำพิพากษาที่ให้จ่ายค่าชดเชยเพิ่มจากรายละหมื่นบาทเป็นห้าหมื่นบาทเศษ ซึ่งคำพิพากษาศาลระบุว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 2504 ดำเนินการโดยชอบแล้ว แต่อาจมีความผิดพลาดในขั้นตอนปฏิบัติซึ่งถือเป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในเรื่องของเอกสาร มีการปิดประกาศ แจ้งเตือน การจะไปบอกโดยปากเปล่าคงไม่สามารถทำได้อีก อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจำเป็นต้องขอโทษชาวปกาเกอะญอ เพราะเป็นผู้ที่บุกรุกผืนป่า และศาลปกครองสูงสุดก็ชี้ขาดแล้วว่าบุกรุกจริง ไม่ให้กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมอีก การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการรักษาธรรมชาติ และพร้อมที่จะถูกสอบวินัยกรณีที่ทำให้รัฐเสียหายจากการต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว อีกทั้งหากมีการนำเรื่องไปฟ้องศาลอาญาก็พร้อมสู้คดีต่อไป

“ขอโทษคงไม่ขอโทษ คิดว่าเรื่องนี้ใครก็รู้ว่าใครบุกรุกป่า คำพิพากษาวันนี้ผมภูมิใจที่ต่อไปจะไม่มีใครสามารถบุกรุกป่าแก่งกระจานได้อีกแล้ว โดยเฉพาะ 6 คนนี้ ซึ่งในส่วนของผมทำอย่างเต็มความสามารถที่สุดแล้ว และผมคิดว่าคนที่ฟ้องกรม อุทยานฯก็รู้ดีว่าตัวเองมีความผิดหรือไม่” นายชัยวัฒน์กล่าว

ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานสภาทนายความ กล่าวว่า คำพิพากษาในวันนี้เป็นการยืนยันว่า กรมอุทยานฯ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในการเข้ารื้อถอน เผา ทำลาย บ้านและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบน และบ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และที่สำคัญเป็นคำพิพากษาที่ยืนยันว่ามติ ครม.3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นข้อกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งในมติ ครม.ดังกล่าวมีการห้ามจับกุมชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่พิพาทและให้คุ้มครองชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่จนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับไปปฏิบัติตามมติ ครม.นี้ให้เป็นรูปธรรม

ด้านนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ กล่าวว่า แม้ว่าศาลจะสั่งให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหาย แต่สิ่งนี้ไม่สามารถชดเชยสิ่งที่ต้องสูญเสียบ้านเกิดไป และวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินได้อีกหรือไม่ จึงขอวิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับรองสถานะเพื่อกลับไปอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินดังเดิม และคิดว่าปู่โคอิ ก็คงเสียใจเพราะทุกวันนี้ไม่มีความุสุขที่ต้องไปอยู่บ้านบางกลอยล่าง เพราะไม่ใช่บ้านเกิด โดยเคยพูดเสมอว่าเหมือนมาอาศัยที่คนอื่นอยู่ และปู่อยากกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดของตัวเอง

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า จากนี้ไปกรรมการสิทธิฯจะเร่งผลักดันให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติ ครม.3 ส.ค. 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลและ กสม.จะต้องทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองรายงานต่อยูเอ็น เพราะถ้าไม่เร่งรัดปฏิบัติตามมติ ครม.นี้จะมีชนเผ่าพื้นเมืองอื่นที่อยู่ในเขตป่ากว่า 8 แสนคน ได้รับผลกระทบ





กำลังโหลดความคิดเห็น