xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปสีกากีผุด “ก.พ.ค.ตร.” องครักษ์พิทักษ์คุณธรรมถ่วงดุล ก.ตร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์
กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจฯ ดัน “ก.พ.ค.ตร.” เป็นองค์กรภายในใหม่เปรียบเหมือน “องครักษ์พิทักษ์คุณธรรมตำรวจ” เพื่อถ่วงดุลกับ ก.ตร. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทุกเรื่อง โดยมีที่มาจาก 6 กลุ่ม คือ อดีต ขรก. พลเรือน อดีตตำรวจ อดีตทหาร อดีตตุลาการ หรือ ศาลปกครอง และอาจารย์มหาวิทยาลัย มีวาระ 6 ปี เป็นได้วาระเดียว และทำงานเต็มเวลา

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการประชุมคณะกรรมการดังกล่าว ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานว่า

Change in action (14)
“ก.พ.ค.ตร.” - องครักษ์พิทักษ์ระบบคุณธรรม!

การประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจฯ นัดเย็นวานนี้ (1 มิถุนายน 2561) ลงรายละเอียดรายมาตราในประเด็น “ก.พ.ค.ตร.” (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ) องค์กรภายในใหม่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ทั้งปวงของข้าราชการตำรวจ ทำหน้าที่เสมือนเป็นศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งนอกจากจะเพื่อผดุงความเป็นธรรมให้กับข้าราชการตำรวจแล้ว ยังจะเป็นการถ่วงดุลกับ ก.ตร. (คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ) อีกด้วย

การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เฉพาะประเด็นที่ว่ากฎ ก.ตร. ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. ตำรวจฯ หรือไม่ ให้คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.เป็นที่สุด

ส่วนประเด็นอื่นๆ หากไม่พอใจคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ผู้อุทธรณ์หรือร้องทุกข์ยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้

ปัจจุบัน หน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์เป็นของ ก.ตร.

นอกจากนั้น เพื่อคุ้มครองระบบคุณธรรม ในกรณีที่ ก.พ.ค.ตร. เห็นว่า กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดที่ออกตาม พ.ร.บ. ตำรวจฯ และมุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่สอดคล้องกับ “ระบบคุณธรรม” ให้แจ้งให้ผู้มีอำนาจออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิกตามควรแก่กรณี

โดย “ระบบคุณธรรม” ที่จะได้บัญญัติขึ้นไว้ใหม่ในร่าง พ.ร.บ. ตำรวจฯ ฉบับใหม่มีดังนี้

1. การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ประโยชน์ของทางราชการ และความพึงพอใจของประชาชน

2. การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

3. การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการตำรวจ ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากอาวุโส ผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ โดยจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้

4. การดำเนินการทางวินัย ต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ

5. การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

ก.พ.ค.ตร. มีองค์ประกอบ 7 คน อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี และไม่เกิน 70 ปี

ทำงานเต็มเวลา

วาระ 6 ปี

ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว

ทั้งนี้ ให้ เลขาธิการ ก.พ. เป็นเลขาธิการ ก.พ.ค.ตร. และ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการ ก.พ.ค.ตร. จากผู้มีคุณสมบัติที่ได้รับการคัดเลือก โดยคณะกรรมการคัดเลือก ที่ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกา 1 คน กรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกโดย ก.ตร. 1 คน และเลขาธิการ ก.พ.

ประธาน ก.พ.ค.ตร. มาจากการเลือกกันเองของ ก.พ.ค.ตร.

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการ ก.พ.ค.ตร. กล่าวโดยสรุปแล้วจะมาจาก 6 กลุ่ม คือ กลุ่มอดีตข้าราชการพลเรือน กลุ่มอดีตข้าราชการตำรวจ กลุ่มอดีตข้าราชการทหาร กลุ่มอดีตข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง กลุ่มอดีตข้าราชการอัยการ และกลุ่มนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา




กำลังโหลดความคิดเห็น