"คำนูณ" กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แจกแจงความคืบหน้า "ปฏิรูปตำรวจ" เผยขจัดการโยกย้ายไม่เป็นธรรมให้มีโทษทางอาญา มีระบบให้คะแนนตำรวจแต่ละคนเพื่อใช้ประกอบในการแต่งตั้ง - เลื่อนขั้นเงินเดือน นอกจากนี้พนักงานสอบสวนต้องมีอิสระโดยไม่ให้ผู้กำกับสถานีฯเป็นหัวหน้า
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก และ กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์" วัน ภายใต้หัวข้อ "ปฏิรูปตำรวจ ก้าวหน้าไปถึงไหน"
นายคำนูณ กล่าวว่า โดยภาพรวมเป้าหมายสูงสุด เราจะต้องตอบโจทย์ 2 ข้อให้ได้ คือ 1.ทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ 2. ตอบโจทย์เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย ที่มีความตั้งใจดีแต่ไม่สามารถเติบโตได้ จะขจัดระบบการวิ่งเต้น พรรคพวก ย้ายข้ามหัวให้ได้มากที่สุด
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกัน เราพุ่งตรงไปที่จุดใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด นั่นก็คือโรงพัก จะมีมาตราที่ระบุถึงสถานีตำรวจบัญญัติไว้เฉพาะเลย เช่นการขาดแคลนอุปกรณ์ของตำรวจชั้นผู้น้อย การทำงานล่วงเวลาแต่ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เชื่อว่าถ้าตำรวจชั้นคลายทุกข์ได้ก็สามารถคคลายทุกข์ให้ประชาชนได้
นายคำนูณ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ตกลงให้มีการแบ่งกลุ่มงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกเป็น 4 สายงาน 1.สืบสวนสอบสวน 2.ป้องกันปราบปราม 3.เทคนิควิชาการ 4.บริหารและอำนวยการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเติบโตในสายงานของตัวเองได้จนถึงระดับรอง ผบ.ตร. โดยรอง ผบ.ตร.ก็จะมี 4 คน แต่ละคนสามารถเป็นแคนดิเดตไปเป็น ผบ.ตร.ในที่สุด การแต่งตั้งโยกย้ายข้ามสายงานสามารถทำได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมประจำสายงานนั้น ๆ ซึ่งก็จะขจัดการโยกย้ายข้ามลำดับได้ระดับหนึ่ง
โดยจะระบุให้ละเอียดที่สุดภายใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ระบุเลยห้ามมีข้อยกเว้น นอกจากเหตุสุดวิสัยจำเป็นจริงๆที่ต้องอธิบายได้ แล้วถ้าไม่เป็นไปตามนั้นแล้วขึ้นศาลปกครองจนพิพากษาออกมาว่าโยกย้ายไม่ถูกต้องจะมีโทษทางอาญาด้วย
นายคำนูณ กล่าวว่า มีการกำหนดให้ตำรวจแต่ละคนมีคะแนนประจำตัว การแต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือนต้องเป็นไปตามผลประเมินการปฏิบัติหน้าที่ สมมติมี 100 คะแนน ถูกประเมินโดยคณะกรรมการอิสระ ประกอบด้วยหลักอาวุโส ผลงานที่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้นว่าต้องมีสถิติว่าทำกี่คดีหรืออยู่พื้นที่นี้สถิติอาชญากรรมลดลงหรือเพิ่มขึ้น และความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องมีอิสระในการทำคดีที่ไม่ถูกสั่งการโดยผู้บังคับบัญชา โดยออกแบบให้ในแต่ละสถานี ผู้กำกับสถานีฯไม่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน แต่จะให้พนักงานสอบสวนประจำสถานีมีอำนาจสูงสุดในการสั่งคดี และมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลโดยผู้บังคับบัญชาในสายสืบสวนที่สูงขึ้นไป
รับชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคลิป
คำต่อคำ
เติมศักดิ์- สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว วันพุธ ที่ 23 พฤษภาคม 2561 วันนี้ว่ากันด้วยด้วยเรื่องประชาชนมีความคาดหวังมากที่สุด ที่อยากให้เกิดขึ้นให้ในรัฐบาลชุดนี้ นั่นก็คือปฏิรูปตำรวจ ล่าสุดเรื่องนี้มีความคืบหน้า กล่าวหน้าไปถึงไหน วันนี้ไปสอบถามจากท่านโฆษกและกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คุณคำนูณ สิทธิสมาน ครับ สวัสดีครับคุณคำนูณครับ
คำนูณ- สวัสดีครับ
เติมศักดิ์- ขอเรียกว่าเป็นกรรมการปฏิรูปตำรวจล่ะกันนะครับ ที่เข้าใจกัน กรรมการปฏิรูปตำรวจชุดอาจารย์มีชัย จริงๆ วางเป้าหมาย วางธงทำงานไว้อย่างไร และตอนนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้วครับ
คำนูณ- ก็ทำให้การปฏิรูปตำรวจเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 258 และก็กำหนดให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แล้วก็ได้ตั้งกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งท่านได้มีข้อเสนอและส่งร่างกฎหมาย 3-4 ฉบับ มาให้ทางคณะรัฐมนตรี คณรัฐมนตรีก็มีมติรับหลักการเห็นชอบ และก็ได้ตั้งกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัยขึ้น ก็คือกรรมการชุดนี้เป็นชุดคณะกรรมการกฤษฎีกาผสมกับบุคคลภายนอกรวม 18 คน และก็จะทำหน้าที่เป็นเสมือนคณะกรรมการกฤษฎีกาไปด้วย ก็คือตรวจร่างกฎหมายไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเสร็จจากคณะนี้แล้ว ก็คือหมายถึงว่า เสร็จจากชั้นกฤษฎีกาเรียบร้อยก็อยู่ที่คณะรัฐมนตรีรับไป แล้วก็เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลย ไม่ต้องกลับมากฤษฎีกาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นสถานภาพของคณะกรรมการชุดนี้ จึงหน้าที่ที่ค่อนข้างกว้างขวาง ก็คือว่าไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายที่ชุดท่านพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เสนอมาเท่านั้น แต่ว่าให้พิจารณารวมถึงปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ โดยที่จะแก้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เฉยๆ อย่างเดียว บางประเด็น หลายประเด็น หรือว่าถ้าเห็นว่าแก้หลายประเด็นมากจะใช้วิธียกร่างใหม่ทั้งฉบับก็ได้หรือจะแก้กฎหมายอื่นประกอบไปด้วยก็ได้ หรือจะร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งในขณะนี้เราก็มาถึงขั้นตอนที่ได้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาฉบับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หรือจะเป็นการเขียนใหม่ทั้งฉบับ แต่ว่าประเด็นต่างๆ สรุปออกมาแล้ว และก็จะมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการสอบสวนโดยเฉพาะ กฎหมายอีกฉบับหนึ่ง และก็ต้องดูว่าจะต้องไปแก้กฎหมายท้องถิ่นอย่างไร หรือว่าจะต้องแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญาหรือไม่ อันนั้นก็เป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ว่าในเชิงหลักการเราผ่านการประชุมไปแล้ว 10 ครั้ง ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านก็มีความตั้งใจอย่างยิ่ง ในช่วงวันหยุด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านก็ได้เดินทางไปดูสภาพความเป็นจริงในโรงพักต่างจังหวัด 2 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 5 โรงพัก ไปแบบชนิดที่เรียกว่า ไม่ได้บอกผู้ใดมาก่อน เดินขึ้นไปแนะนำตัว แล้วก็พูดคุยกับนายตำรวจที่เข้าเวรอยู่ ก็ได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณาค่อนข้างมาก แล้วก็ในขณะนี้โดยหลักการใหญ่ๆ เราก็สรุปมีมติไป ขออนุญาตเล่าภาพรวมให้ฟังล่ะกันนะครับ ว่า เป้าหมายสูงสุด เราจะตอบโจทย์ 2 ข้อ ให้ได้ก็คือ 1.ทุกช์ของประชาชนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน 2.เราต้องตอบโจทย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยในระดับปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความตั้งใจดีในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ว่าไม่สามารถที่จะเติบโตในระบบได้ด้วยความรู้ความสามารถแต่เพียงลำพัง พูดได้ง่ายก็คือว่าจะทำยังไงที่จะขจัดระบบการวิ่งเต้น ระบบพรรคพวก ระบบการย้ายข้ามหัว ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไปข้ามหัวคนอื่นให้ได้มากที่สุด นี่ก็ 2 ข้อ แล้วก็อีกข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดนะครับ ก็คือเราก็มีความเห็นรวมกันว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะพุ่งตรงไปที่จุดที่ใกล้ชิกับประชาชนมากที่สุดก็คือ โรงพักหรือสถานีตำรวจ จึงจะมาตราที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสถานีตำรวจโดยเฉพาะว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร ซึ่งไม่คมีบัญญัติไว้ก่อนใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พูดได้ง่ายก็คือว่าสภาพความเป็นจริงที่ผมคิดว่าพวกเราก็ได้ยินกันมาว่าบางคนที่อาสาเข้ามาประกอบวิชาชีพที่เป็นตำรวจ มันก็ต้องมีจิตใจที่รับใช้ประชาชนอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ามาแล้วสิ่งที่เขาพบเห็น สิ่งที่เขาเจอะเจอมันก็ไม่ได้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่เขาคาดหวังไว้ เจอกับสภาพความไม่พร้อมต่างๆ เจอกับสภาพที่งานหนัก บางทีก็อาจจะหนักจนเกินไปสำหรับตำรวจชั้นผู้น้อย การขาดแคลนอุปกรณ์อำนวยการสะดวกในการทำงานต่างๆ อย่างเช่นท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านไปเยี่ยมบางโรงพัก บางก็ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่าเมื่อตำรวจคนหนึ่งถูกคำสั่งย้ายมาลงตำแหน่งที่โรงพักแห่งนี้ สิ่งที่เขาพบเห็นคือที่ทำงานที่ว่างเปล่า โต๊ะ เก้าอี้ไม่มีนั่ง แอร์ไม่มี เพราะว่าคนเก่าเขาก็ถอนออกไปหมด เวลาเขาถูกย้ายออกไป เพราะว่าไอ้ของที่ติดอยู่ก็เป็นของคนเก่าที่หาซื้อมาเอง มาติดอยู่ เมื่อเขาย้ายออกไป เขาก็ย้ายไปติดที่ใหม่ด้วย เพราะว่าในงบประมาณการก่อสร้างโรงพักมันไม่ได้มีอุปกรณ์พวกนี้อยู่ด้วย มันก็กลายเป็นว่าคนที่เข้ามารับตำแหน่งนี้ ต่าใช้จ่ายที่รออยู่ที่คุณมาถึง คุรต้องหาโต๊ะ หาเก้าอี้ มาเอง หาแอร์ติดเอง ไม่ต้องพูดถึงว่าปืนคุณต้องซื้อเอง เอกสาร กระดาษ ปากกา ดินสอ ในขณะที่ประชุมกรรมการของเรามีดินสอ เป็นดินสอของหลวง สำหรับสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ว่าเจ้าพนักงานสอบสวนในโรงพักไม่มี
เติมศักดิ์- นี่คือสภาพเป็นจริงที่เกิดขึ้น
คำนูณ- สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหรือแม้กระทั่ง ผมเองก็เคยได้ยินมานานแล้ว และก็เคยพูดคุยกับตำรวจด้วยตัวเอง ก็คือว่าในหลายกรณี เบี้ยเลี้ยงเขาก็ไม่พอ แล้วตำรวจก็ต้องเข้าเวรทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีค่าล่วงเวลา ก็อาจจะมีเบี้นเลี้ยงเหมารวม ก็พอบ้าง ไม่พอบ้าง หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำสำนวนคดี หรือแม้กระทั่งการพาผู้ต้องขังไปฝากขังยังศาลในบางกรณีค่าน้ำมันก็ไม่พอ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าเราปล่อยให้สภาพเหล่านี้ดำรงอยู่ มันก็เท่ากับว่าเมื่อคุณเข้ามารับตำแหน่ง ค่าใช้จ่ายรออยู่แล้ว แล้วสภาพความเป็นจริงก็คือ คุณเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ใช้อำนาจ มีหน้าที่ ถือกฎหมาย ถือปืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าไม่ต้องห่วงหรอกไอ้เรื่องขาดแคลนในบางพื้นที่ มันก็จะมีผู้ปรารถนาดีเข้ามาออกให้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เมื่อเริ่มมีผู้ปรารถนาดีเข้ามาแล้ว ตามระบบของสังคมไทย มันก็มีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
เติมศักดิ์- เป็นระบบอุปถัมภ์
คำนูณ- มันก็เป็นจุดเริ่มต้น แล้วมันก็เป็นทุกข์ของตำรวจ เพราะว่าเขาทำงานดียังไง ก็ปรากฏว่าปีนี้โรงพักที่เขาประจำอยู่ได้รับยกย่องเป็นโรงพักตัวอย่าง แต่ปีหน้าเขาก็ถูกย้ายแล้ว คนอื่นก็มาแทน เพราะฉะนั้นเราจะตอบโจทย์ความทุกข์ของประชาชนอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องตอบโจทย์ความทุกข์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เพระาเราเชื่อว่าถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจคลายทุกข์ลงไปในเรื่องนี้ เขาก็มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ มีความเพียงพออุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่
เติมศักดิ์- ไปคลายทุกข์ให้ประชาชน
คำนูณ- ก็ไปคลายทุกข์ให้ประชาชนโดยอัตโนมัติไปในตัว อันนี้คือ 2 อย่าง ที่เราตั้งเป้าจะตอบให้ได้ จากนั้นเราก็มาพิจารณาผ่านกรอบที่พิจารณากันอยู่ประมาณ 5-6 กรอบด้วยกัน กรอบที่ 1 คือโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรอบที่ 2 ก็คือเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายกฏเกณฑ์ กรอบที่ 3 ก็คือเรื่องของอำนาจสอบสวน กรอบที่ 4 ก็คือเรื่องของนิติวิทยาศาสตร์ กรอบที่ 5 ก็คือเรื่องความพร้อมหรือไม่พร้อมความขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรอบที่ 6 ก็คือระบบการร้องทุกข์ การขอความเป็นธรรมภายในของตำรวจเอง ก็คือตอบโจทย์ 2 ข้อ พิจารณา 6 กรอบ ในหลายกรณี หลายๆ กรอบ ก็พิจารณารวมกันไป เป็นต้นว่า ก็เล่าให้ฟังโดยภาพรวมเนี่ย ในขณะนี้เราก็มีการตกลงให้มีการแบ่งกลุ่มงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือสายงาน ออกเป็น 4 สายงาน หรือ 4 แท่ง สี่แท่งมีอะไรบ้างครับ ก็คือมี แท่งสอบสวนสืบสวน แท่งป้องกันปราบปราม แท่งเทคนิคและวิชาการ และก็แท่งบริหารและอำนวยการ ในแต่ละแท่งก็สามารถเติบโตภายในแท่งของตัวเองได้จนขึ้นไปถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หมายความว่าจะมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จาก 4 แท่ง แท่งละคน
เติมศักดิ์- รองด้านนี้ รองด้านนี้ รองด้านนี้
คำนูณ- แล้วทั้ง 4 คน ก็สามารถที่จะเป็น Candidate ที่จะไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในที่สุด แล้วก็ถามว่าในการแต่งตั้งโยกย้าย ถามว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแต่ละแท่ง ย้ายข้ามแท่งได้ไหม
เติมศักดิ์- ได้ไหมครับ
คำนูณ- ก็ตอบว่าได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า 1.ก็คือคุณต้องมีคุณสมบัติที่ไปสอดคล้องกับคุณสมบัติประจำตำแหน่งในแต่ละแท่งนั้น 2.ก็คือต้องย้ายไประยาบเดียวกัน ไม่ใช่ย้ายไประนาบสูงกว่า คือหมายถึงว่าคุณเป็นรองผู้กำกับอยู่ในแท่งนี้ แท่งสอบสวน ถ้าคุณอยากย้ายไปแท่งป้องกันปราบปราม ก็ย้ายได้ครับ 1.ถ้าคุณสมบัติได้ 2.ก็ต้องย้ายเป็นรองผู้กำกับนะ
เติมศักดิ์- ระนาบเดียวกัน
คำนูณ- ระนาบเดียวกัน ก็ไปแข่งขันกับรองผู้กำกับในแท่งที่คุณย้ายไป ตามกฏเกณฑ์ของแท่งนั้น ไม่ใช่เป็นรองผู้กำกับในแท่งนี้ แล้วย้ายไปเป็นผู้กำกับอีกแท่งหนึ่ง
เติมศักดิ์- นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอันหนึ่งใช่ไหมครับ
คำนูณ- ใช่ครับ นี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่ง อันนี้ก็จะเห็นได้ว่า มันก็ขจัดเรื่องการข้ามลำดับ การเหาะเหินเดินอากาศไปได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นก็คือกฏเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย เราก็จะกำหนดไว้ให้ละเอียดที่สุดภายในกฎหมายหลัก ก็คือภายในกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แล้วก็จะมีการระบุว่าห้ามมีข้อยกเว้น ยกเว้นแต่เป็นเหตุที่สุดวิสัยจริงๆ ที่ต้องอธิบายได้ แล้วถ้าเกิดมีการยกเว้นกฏเกณฑ์ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กฏเกณฑ์ที่เราจะระบุไว้นี้นะครับ แล้วเป็นคดีขึ้นถึงศาลปกครองชี้ขาดว่ากระทำความผิดหรือเป็นการโยกย้ายที่ไม่ถูกต้อง ก็จะถูกระบุไว้ให้มีโทษทางอาญาด้วย อาจจะโทษปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนั้นก็คือการมีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยหลักก็คือเราจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละคนมีคะแนนประจำตัว ก็คือว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายก็ดี ในการพิจารณาปรับขั้นเงินเดือน ก็คือต้องเป็นไปตามผลการประเมินปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคน สมมุติว่าคุณเติมศักดิ์เป็นตำรวจ คุณเติมศักดิ์มีคะแนนเต็มอยู่ 100 คะแนน จะถูกประเมินโดยคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ ที่จะต้องออกแบบกันต่อไป ใน 100 คะแนนนี้ ประกอบด้วยหลักอาวุโส 50 หลักอาวุโส 50 ในที่นี้ อาวุโสในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเกิดก่อนหรือดำรงตำแหน่งก่อนเท่านั้น มันก็มีกฏเกณฑ์อาวุโสที่จะต้องระบุไว้ให้ชัดเจน สองก็คือผลงานที่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ ว่าเป็นผลงานดี เป็นต้นว่า ถ้าคุณเป็นพนักงานสอบสวนมันต้องมีสถิติว่า ปีนี้คุณทำกี่คดี แล้วแต่คดีที่คุณทำไปนั้นเมื่อผ่านขึ้นต่อไป ระดับต่อๆ ไปนั้นเป็นอย่างไรว่า หรือว่าคุณอยู่ฝ่ายป้องกันปราบปรามในพื้นที่นี้ ของสถานีนี้ ของปีนี้ สถิติอาชญากรรม ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ต่างๆ เหล่านี้มี 3 สิ่ง
เติมศักดิ์- นี่เป็น KPI
คำนูณ- แล้วอีก 20 ก็คือเป็นคะแนนความพึงพอใจของผู้รับบริการ นี่คือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ก็คงหากฏเกณฑ์ที่ระบุชัดเจนเอาไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่คนละต้องรู้เลยว่า เหมือนนักเรียนต้องมีคะแนนความประพฤติใช่ไหม เวลาเราทำผิดอะไรก็ถูกหักคะแนนไปเรื่อยๆ อย่างลูกผมเรียนวชิราวุธ จะรู้ดีมีคะแนนแบบนี้ ถูกหักไป ครูก็จะมาเตือนถูกหักจนจะหมดแล้วนะ หรืออะไรอย่างนี้ หรือถ้าทำความดี