ปฏิรูปตำรวจยุบเลิก ก.ต.ช.ให้เหลือแค่ ก.ตร. มีนายกฯ เป็นประธานทำหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมกฎเกณฑ์การโยกย้ายตำรวจแยกตามบัญชีจากโครงสร้าง 4 แท่ง ยึดอาวุโส-ผลงาน-ความพอใจของชาวบ้าน ให้อำนาจแต่งตั้งเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ตร.รวมถึงตำแหน่งระดับสูงอีกบางตำแหน่งเท่านั้น ฝ่าฝืนหรือตุกติกมีโทษอาญาตาม ม.157
วันนี้ (1 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯได้ประชุมพิจารณาในประเด็นองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และหลักเกณฑ์พื้นฐานของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในทุกระดับ โดยเห็นควรในเบื้องต้นให้ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และโอนภารกิจทั้งหมดมาให้ ก.ตร.ปฏิบัติแทน
นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับองค์ประกอบใหม่ของก.ตร.มี 15 คน ดังนี้ กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ประกอบด้วย 1. นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเป็นประธาน โดยจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาประชุมด้วยตนเอง 2. ผบ.ตร. 3. รองผบ.ตร. 2 คนที่มาจากแท่งสืบสวนสอบสวน และแท่งป้องกันปราบปราม และจเร ตร.1 คน 4. อัยการสูงสุด 5. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
นอกจากนี้จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกโดยข้าราชการตำรวจทั่วประเทศโดยตรงและเป็นการลับ 8 คน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 3 คน โดยเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา ฝ่ายละ 3 คน
นายคำนูณกล่าวว่า ที่สำคัญอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.จะปรับเปลี่ยนไปโดยพื้นฐาน จากองค์กรที่ทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลัก มาเป็นองค์กรกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ และกำกับควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์โดยจะยังคงอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ตร.เท่านั้น และอาจจะรวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสูงอีกบางตำแหน่งที่จะได้พิจารณากันในโอกาสต่อไป
“กฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายจะเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลักไม่ใช่กฎหมายลำดับรอง และห้ามแก้ไขยกเว้น เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นสุดวิสัย” นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณอธิบายอีกว่า ในเบื้องต้นนี้กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไว้ล่วงหน้า โดยข้าราชการตำรวจแต่ละคนจะได้รับคะแนนเฉพาะตัวจากเกณฑ์ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. อาวุโส 2. ผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด มีหลักฐานและมีดัชนีชี้วัดชัดเจน และ 3. ความพึงพอใจของประชาชน โดยคะแนนที่แต่ละคนจะได้รับ ทิ้งนำหนักที่องค์ประกอบที่หนึ่ง 50% องค์ประกอบที่สอง 30% และองค์ประกอบที่สาม 20%
เกณฑ์ทั้ง 3 ประการนี้จะเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายหลัก ทั้งความหมาย ตัวชี้วัด กรรมการผู้ให้คะแนน ระบบการให้คะแนน การปรับคะแนน รวมถึงกลไกที่สามารถให้ข้าราชการตำรวจทุกคนสามารถตรวจสอบและมีสิทธิโต้แย้งคะแนนที่ตนเองได้รับ และบัญชีรายชื่อจะจัดทำแยกเป็น 4 แท่งตามโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ที่ได้ตกลงกันไปในการประชุมครั้งที่ 2
นายคำนูณกล่าวว่า หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายผิดหลักเกณฑ์เกิดขึ้น และศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิด ให้ถือว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157