xs
xsm
sm
md
lg

สปท.เห็นชอบรายงานกิจการตำรวจ ลด-ยุบ กต.ตร.ประเมินปีละ 2 รอบ ชงผุด กก.บห.ทำนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สปท. พิจารณารายงาน กมธ. ขับเคลื่อนปฏิรูปกฎหมายและยุติธรรม ประเด็นสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการตำรวจ ก่อนมีมติเห็นชอบ 140 ต่อ 3 งดออกเสียง 7 ให้ลด กต.ตร. ตัดตำรวจออก ยุบส่วน สน. และ สภ. ให้จังหวัดประเมินเอง ตั้งส่วนนครบาลดู ตร. ในสังกัด ชงตั้งส่วนภูธร และชายแดนใต้ ให้ประเมินงานปีละ 2 รอบ พร้อมตั้งสำนักงาน ตั้งอนุฯ ก.ต.ช. รับร้องทุกข์ เสนอผุด กก. บริหารกำหนดนโยบายตั้งแต่ สน. ขึ้นไปจน บช.ภ.

วันนี้ (22 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น. การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน มีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ ทั้งนี้ ที่ประชุม สปท. ได้ลงมติเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าว 140 ต่อ 3 งดออกเสียง 7 เสียง

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญรายงานเสนอให้ตัดอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ปฏิบัติงาน หรือเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานของ กต.ตร. ออก สำหรับโครงสร้าง กต.ตร. เห็นควรให้ปรับลดจำนวนคณะกรรมการลงให้มีจำนวนพอเหมาะ โดยให้ยุบ กต.ตร. สถานีตำรวจทั้งภูธร และนครบาล ทั้งหมด และให้ กต.ตร. จังหวัดทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจภูธรทุกสถานีในจังหวัดของตนเอง อีกทั้งตั้ง กต.ตร. กองบังคับการตำรวจนครบาล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจนครบาลทุกสถานีในสังกัด โดยมี กต.ตร. ในระดับกองบัญชาการเป็นผู้คอยตรวจสอบติดตาม กต.ตร. กองบังคับการตำรวจนครบาล และยังเสนอให้ตั้ง กต.ตร. ตำรวจภูธร และ กต.ตร. ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ส่วนองค์ประกอบ กต.ตร. เสนอให้ตัดข้าราชการตำรวจออก แต่ให้แต่งตั้งอดีตข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน กต.จร. ในระดับต่างๆ แทน อีกทั้งมีข้าราชการอื่นที่มีลักษณะงานเกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน และประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการ นอกจากนี้ ในส่วนการปรับปรุงระบบงานของ กต.ตร. และ ก.ต.ช. ใหม่ ให้วางระบบการตรวจสอบติดตามประเมินผล และการรายงานผลให้ กต.ตร. ถือปฏิบัติ รวมทั้งให้มีการประเมินและรายงานผลการปฏิบัติงานของตำรวจ ปีงบประมาณละ 2 รอบ ดังนี้ 1 ต.ค.- 31 มี.ค. และ 1 เม.ย.- 30 ก.ย.

ในรายงานยังเสนอตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ต.ช. เพื่อปรับระบบการรับคำร้องเรียนและข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคำร้องเรียน และข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล เนื่องจากกรรมการ ก.ต.ช. แต่ละคนมีภารกิจมาก ไม่สามารถจัดประชุม ก.ต.ช. ได้บ่อยครั้ง ทั้งนี้ เสนอให้จัดตั้งสำนักงาน กต.ตร. ด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เป็นรายงานเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ แต่ตามข้อเสนอนั้นกลับระบุว่า การมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจของประชาชนทั่วไป องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนที่ผ่านมาในภาพรวมเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี จึงเห็นควรที่จะคงหลักการ

นอกจากนี้ เสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการบริหาร” ทั้งในระดับสถานีตำรวจ ระดับกองบังคับการตำรวจนครบาลพื้นที่ และตำรวจภูธรจังหวัด และระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน ประชาชน ข้าราชการตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ และข้าราชการอื่นในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย สนับสนุนงบประมาณและอาสาสมัครในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน ส่วนหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการบริหารงานตำรวจมี กต.ตร. ทำอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น