xs
xsm
sm
md
lg

สตง.แนะ “ผู้ว่าฯ ลับแล” สอบ-ฟันวินัย ขรก.เอี่ยวสร้างตลาดครบวงจร 19.2 ล้าน พบ 2 แห่งรุกป่าสงวนชื่อดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง.แนะ “ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์” ตั้งกรรมการสอบ-ฟันวินัย ขรก.เอี่ยวก่อสร้างตลาดตามระบบสหกรณ์แบบครบวงจร 7 แห่ง วงเงิน 19.2 ล้าน พบ 2 แห่งรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติชื่อดัง แถม 5 แห่งก่อสร้างอาคาร-สิ่งปลูกสร้างในที่ดินเอกชนโดยไม่มีหนังสือยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หวั่นทำรัฐเสียหาย เสียประโยชน์

วันนี้ (7 มิ.ย.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบของสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 (จังหวัดลำปาง) ในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดผลิตผลการเกษตร โดยระบบสหกรณ์แบบครบวงจร ของสำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงมหาดไทย วงเงินงบประมาณดำเนินงานตามโครงการ 19,243,100 บาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ อนุมัติให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (ครั้งที่ 4)

จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรทั้ง 7 แห่ง ใน จ.ลำปาง ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดตามโครงการ พบว่า ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของสหกรณ์การเกษตรทั้ง 7 แห่ง ที่รวบรวมได้ในปี พ.ศ. 2559 ไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดผลิตผลการเกษตรโดยระบบสหกรณ์แบบครบวงจร

มีรายงานว่า สตง.ยังพบว่า ในส่วนการดำเนินการก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดตามโครงการในพื้นที่ของเอกชน โดยไม่มีหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่หรือก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดูแล จากการตรวจสอบหลักฐานและเอกสารสิทธิในที่ดินของสถานที่ก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดของสหกรณ์การเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 7 แห่ง พบว่า ไม่มีการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดให้มีเอกสารหลักฐาน กรณีที่ทางราชการขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้ หรือกรณีราษฎรแสดงความประสงค์จะอุทิศที่ดิน หรือกรณีเข้าไปดำเนินการในที่ดินของเอกชน เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 111 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2550 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีทางราชการขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้ หรือกรณีเข้าไปดำเนินการในที่ดินของเอกชนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันจำนวน 5 แห่ง

“ขณะที่การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2 แห่ง โดยไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 โดยไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินนาอิน จำกัด ก่อสร้างฉางเก็บผลิตผลการเกษตรนาอิน บ้านปากเหมือง หมู่ที่ 1 ต.นาอิน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ งบประมาณเบิกจ่าย 1,552,040 บาท อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านาอิน-นายาง และ สหกรณ์การเกษตรตำบลท่าแฝก จำกัด ก่อสร้างฉางเก็บผลิตผลการเกษตรท่าแฝก บ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 4 ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ งบประมาณเบิกจ่าย 1,888,888 บาท อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจริม”

ทั้งนี้ ก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของเอกชน โดยไม่มีหนังสือยินยอมจากผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ 5 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด, สหกรณ์การเกษตรทองแสนขัน จำกัด, สหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอุตรดิตถ์ จำกัด, สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินหนองกอก จำกัด และสหกรณ์การเกษตรน้ำพี้ จำกัด

นอกจากนี้ จากผลที่ไม่ได้บันทึกครุภัณฑ์ที่จัดหาในทะเบียนคุมครุภัณฑ์ของสานักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งผลให้เมื่อมีผู้มาขอใช้ประโยชน์ ไม่ได้จัดทำหลักฐานการยืมเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง และระเบียบสานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และจากการสังเกตการณ์ ไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าครุภัณฑ์ที่มีให้ตรวจสอบเป็นรายการเดียวกับที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์จัดหาหรือไม่

ขณะที่สิ่งก่อสร้างตามโครงการ พบความชำรุดเสียหาย ของงานสิ่งก่อสร้างลานตากผลิตผลการเกษตรน้ำพี้ สหกรณ์การเกษตรน้ำพี้ จำกัด งบประมาณเบิกจ่าย 1,260,000 บาท และงานก่อสร้างลานตากผลิตผลการเกษตร สหกรณ์การเกษตรเมืองตรอนจำกัด งบประมาณเบิกจ่าย 2,929,290 บาท

อย่างไรก็ตาม สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 (จังหวัดลำปาง) ได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรมาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทาโครงการในครั้งต่อไป เพื่อให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ และรายงานผลการติดตามและประเมินผลโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในฐานะเจ้าของงบประมาณ รวมทั้งให้รวบรวมสภาพปัญหาอุปสรรคและรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น

“เสนอแนะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของเอกชน โดยไม่มีหนังสือยินยอมจากผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ และกรณีก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ เพราะหากกรณีดังกล่าวทำให้ราชการเสียหายหรือเสียประโยชน์ให้หาผู้รับผิดชอบทางละเมิดเพื่อ ชดใช้เงินและนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน พร้อมทั้งพิจารณาโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกรายตามควรแก่กรณี”

มีรายงานว่า โครงการก่อสร้างหรือติดตั้งอุปกรณ์การตลาด ได้แก่ ฉาง เครื่องชั่ง และลานตากผลิตผลการเกษตร เพื่อให้สหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลิตผลเพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่วยยกระดับราคาผลิตผลการเกษตร และเพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างอำนาจต่อรองระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตการเกษตร ส่งเสริมรายได้ของสมาชิกสหกรณ์และรองรับเส้นทางสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ของจังหวัดอุตรดิตถ์


กำลังโหลดความคิดเห็น