xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละสเปก “ส้วมศูนย์เด็กเล็ก” 92 ล้าน อปท.นครศรีธรรมราช 37 แห่ง พบติดตั้ง “สเปกไซส์ผู้ใหญ่” พรึบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง.ชำแหละ! งบอุดหนุนเฉพาะกิจ วงเงิน 92 ล้าน ปีงบ 59 โครงการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช 37 แห่ง เฉพาะสเปก “ส้วม-ห้องอาบน้ำเด็กเล็ก” หลายแห่งสร้างผิดแบบ มองไม่เห็นเด็กจากภายนอก แถมบางแห่งพบติดตั้ง “โถส้วมผู้ใหญ่” ไม่เหมาะกับขนาดตัวเด็ก บางแห่งปรับห้องน้ำเด็กเป็นห้องน้ำครู เผยไม่พบหนังสือขอ “ผู้ว่าฯ” เปลี่ยนแปลงสเปก ชี้ขัดระเบียบ มท.

วันนี้ (7 มิ.ย.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 37 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กสถ.) วงเงิน 92,236,000 บาท โดยเป็นแผนดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแบบมาตรฐานอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดไม่เกิน 50 คน ตามแบบที่ สถ.ศพด.1 ขนาด 51-80 คน ตามแบบที่ สถ.ศพด.2 และขนาด 81-100 คน แบบที่ สถ.ศพด.3

จากการตรวจสอบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ จำนวน 32 แห่ง พบว่า การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 29 แห่ง “มีการติดตั้งประตูห้องน้ำ ห้องอาบน้ามีระดับความสูงจากพื้น ขนาดกว้าง ยาว ไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการ ไม่สามารถมองเห็นเด็กจากภายนอกได้ ติดตั้งโถสุขภัณฑ์เด็ก เป็นขนาดผู้ใหญ่ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก และไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ การก่อสร้างห้องน้ำผิดวัตถุประสงค์การใช้งาน มีการปรับเปลี่ยนแปลงห้องน้าเด็กเป็นห้องน้ำครู”

การดำเนินการข้างต้นไม่พบว่า มีการรายงานเหตุผลความจำเป็นเพื่อขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558 ข้อ 129 (2) และการปรับเปลี่ยนห้องเด็ก เป็นห้องน้ำครู ทำให้ห้องน้าเด็กมีไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามสัดส่วนมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่กำหนดให้โดยเฉลี่ย 1 ที่ ต่อเด็ก 10-20 คน

รายงานยังระบุว่า จากการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.63 ไม่มีการติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนด ตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้งปริมาณงานและราคา และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ตรวจรับการจ้างโดยถูกต้องเรียบร้อยแล้ว รวมค่าความเสียหายของทางราชการ จำนวนเงิน 76,470.58 บาท ได้แก่ อบต. เขาพระทอง อ.ชะอวด ศพด.1 ไม่ติดตั้งสายฉีดชาระ คิดเป็นเงิน 1,527.12 บาท และ ศพด.2 ไม่ติดตั้งราวระเบียงบันไดสแตนเลสและสายฉีดชำระ รวมเป็นเงิน 26,470.08 บาท

เทศบาลตำบลการะเกด อ.เชียรใหญ่ ไม่ติดตั้งโคมไฟฉุกเฉิน เป็นเงิน 9,547.88 บาท, เทศบาลตาบลหัวไทร อ.หัวไทร ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงและกระจกเงา และไม่มีงานติดตั้งบัวเชิงผนังไม้เนื้อแข็ง 3/4 นิ้ว x 4 นิ้ว ปริมาณงาน 122 เมตร รวมเป็นเงิน 37,020.50 บาท อบต.ห้วยปริก อ.ฉวาง ไม่ติดตั้งประตูห้องอาบน้า คิดเป็นเงิน 1,905.00 บาท

ข้อต่อมาพบว่า งานก่อสร้างโดยทั่วไปวัสดุที่ใช้มีความคงทนแข็งแรง มีคุณภาพพร้อมใช้งาน 16 แห่ง และงานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง แตกร้าว ติดตั้งไม่สมบูรณ์เรียบร้อย16 แห่ง เช่น ไม้ฝ้าระแนงใต้หลังคาชำรุด หลังคารั่วทำให้ฝ้าเพดานชำรุดเสียหาย ประตูห้องน้ำชำรุด ระบบไฟฟ้าห้องครัวไม่ทำงาน หลอดไฟฟ้าเสียใช้งานไม่ได้ เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เกิดความคุ้มค่า เนื่องจากการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่มีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์

จากรายงานยังพบว่า เอกสารสัญญาจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ที่กำหนด อปท. ในการก่อสร้าง ขนาด 51-80 จำนวน 9 แห่ง และ ขนาด 81-100 คน จำนวน 12 แห่ง รวม 21 แห่ง ตามสัญญาจ้างข้อ 2 กำหนดให้ใบแจ้งปริมาณงานและราคา เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา พบว่า จำนวนเงินรวม ตามใบแจ้งปริมาณงานและราคา ของผู้รับจ้างไม่ถูกต้องตรงกันกับจำนวนเงินตามสัญญาจ้าง จำนวน 6 แห่ง

พบว่า ผู้รับจ้างไม่กรอกจำนวนเงินของแต่ละรายการ ในใบแจ้งปริมาณงานและราคา ให้ถูกต้องตรงกันกับราคาที่เสนอไว้ จำนวน 7 แห่ง การไม่กรอกจำนวนเงินแต่ละรายการ ภายหลังการเสนอราคารายต่ำสุดที่เป็นคู่สัญญา หรือมีจำนวนเงินรวมไม่ตรงตามสัญญาจ้าง หากมีกรณีข้อโต้แย้งระหว่าง อปท.กับผู้รับจ้าง อาจจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้ และเป็นการไม่ปฏิบัติ เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการกาหนดเงื่อนไขต่างๆ ในเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

“พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ยังไม่เปิดให้บริการการเรียนการสอน 11 แห่ง และในจำนวนนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 10 แห่ง ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนานมากกว่า 5 เดือน ยังไม่สามารถ เปิดให้บริการด้านการเรียนการสอน ตามวัตถุประสงค์ได้ ส่งผลให้เด็กปฐมวัย ในพื้นที่ อปท. ไม่สามารถเข้ารับบริการ เนื่องจาก อปท.ขาดการเตรียมความพร้อมพื้นที่โดยรอบอาคาร ต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ การก่อสร้างรั้วรอบอาคาร การปรับปรุงกั้นห้องเพิ่มเติม และบางแห่งยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย การเดินทาง ความปลอดภัย และขาดการติดตามประเมินผลด้านการใช้ประโยชน์”

สุดท้ายพบว่า การบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559 พบว่า ที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม 8 แห่ง โดยอยู่ใกล้กับฌาปนกิจสถาน 2 แห่ง อยู่ใกล้ถนนมากเกินไป 5 แห่ง และตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง 1 แห่ง พบว่า 15 แห่ง ไม่มีรั้วป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ยังพบว่าประตู/หน้าต่าง เป็นไปตามมาตรฐานฯ 30 แห่ง และ 2 แห่ง ชำรุดผุพัง 2 แห่ง พื้นที่ใช้สอยภายใน เช่น ห้องส้วมเด็กมีไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ไม่เป็นไปตามสัดส่วนห้องส้วม 1 ห้อง ต่อเด็ก 10-12 คน จำนวน 24 แห่ง ห้องส้วมไม่แยกสัดส่วน สำหรับเด็กชายและเด็กหญิง มีการใช้ห้องส้วมร่วมกัน และติดตั้งโถส้วม ที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก จานวน 13 แห่ง

ทั้งนี้ ด้านสิ่งแวดล้อมภายในอาคารเป็นไปตามมาตรฐานฯ ทั้งหมด แต่ภายนอกอาคารไม่มีรั้วกั้นบริเวณให้เป็นสัดส่วน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก จำนวน 15 แห่ง และมาตรฐานการป้องกันความปลอดภัย กลับยังไม่ติดตั้งถังดับเพลิง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันความปลอดภัย จำนวน 2 แห่ง โดยติดตั้งถังดับเพลิงจากพื้นถึงหัวถัง สูงเกินกว่า 1.50 เมตรที่กำหนด จำนวน 16 แห่ง และติดตั้งปลั๊กไฟสูงจากพื้นต่ำกว่า 1.50 เมตรที่กำหนด จำนวน 31 แห่ง นอกจากนี้มีหลุมหรือบ่อน้าที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในบริเวณโดยรอบตัวอาคาร จำนวน 6 แห่ง”

“โดย สตง.มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และดาเนินการกับผู้รับผิดชอบ ตามควรแก่กรณีต่อไป รวมถึงสั่งการและกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ บริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานด้านอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย”


กำลังโหลดความคิดเห็น