xs
xsm
sm
md
lg

SPRC เล็งซื้อบริษัทค้าปลีกน้ำมันไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



สตาร์ปิโตรเลียมฯ ศึกษาซื้อบริษัทค้าปลีกน้ำมันในไทยเพื่อเน้นขายน้ำมันสำเร็จในประเทศเหตุมีมาร์จิ้นสูงกว่าส่งออก เผยปีหน้าทุ่มงบ 130 ล้านเหรียญสหรัฐในการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและขยายกำลังการผลิตเป็น 1.75 แสนบาร์เรล/วัน

นายวิชัย ชุณหสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่บริหาร-ผู้จัดการฝ่ายการเงินและการคลัง บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทย เพื่อรองรับกลยุทธ์การเน้นขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศให้มากที่สุดเพราะมีมาร์จิ้นสูงกว่าการส่งออก โดยไม่คิดจะสร้างแบรนด์ค้าปลีกน้ำมันใหม่ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการส่งออกคิดเป็น 15% ของกำลังการกลั่น โดยเป็นการส่งออกน้ำมันเตา 10% ที่เหลืออีก 5% เป็นการส่งออกก๊าซแอลพีจี และน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วนก็ส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมฯ มีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 1.65 แสนบาร์เรล/วัน ในปลายปีหน้าจะมีการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 แสนบาร์เรล/วัน โดยน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะเน้นขายให้กับกลุ่มเชฟรอนหรือปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ 60% ที่เหลือขายให้กับ ปตท. 40% แม้ว่า ปตท.จะไม่ได้ถือหุ้นใน SPRC แล้วก็ตาม

“การเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะช่วยรองรับการขายน้ำมันในประเทศของบริษัท โดยรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะมีทั้งการขายในสถานีบริการน้ำมัน ขายให้โรงงานอุตสาหกรรม ขายภาคขนส่ง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานจะไม่ซ้ำซ้อนกับสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ที่มีกลุ่มเชฟรอนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นเดียวกัน”

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นใหญ่ในรอบ 5 ปีช่วงเดือน พ.ย. 2562 คาดว่าจะใช้เวลาหยุดซ่อมบำรุงน้อยกว่า 38 วัน ใช้เงินประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งระหว่างการปิดซ่อมบำรุงนั้นก็จะดำเนินการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 แสนบาร์เรล/วัน ใช้เงินลงทุนอีก 80 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าโครงการขยายกำลังการกลั่นจะผลิตเชิงพาณิชย์ในราว ธ.ค. 62 หรือต้น ม.ค. 63 โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 25%

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2561 บริษัทฯ คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2561 จากค่าการกลั่น (GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน และอัตราการใช้กำลังการกลั่นจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในปัจจุบันจากระดับเฉลี่ยราว 64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/2561 ก็น่าจะทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันด้วย โดยไตรมาส 1/2561 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 81 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.57 พันล้านบาท มีค่าการกลั่นที่ไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน 7.17 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีอัตราการใช้กำลังการกลั่นระดับ 96.6%


กำลังโหลดความคิดเห็น