xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.กำไรไตรมาส1เฉียด4หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.แจงกำไรไตรมาส1/61 อยู่ที่3.97 หมื่นล้านบาท ลดลง13.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายได้จากเงินปันรับจากองทุนEPIFและผลดำเนินงานธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นลดลง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1/2561ว่า ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 39,788 ล้านบาท ลดลง 6,380 ล้านบาท หรือ 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 46,168 ล้านบาท

สาเหตุหลักเนื่องจากในไตรมาส 1/2560 ปตท. มีรายได้จากเงินปันผลรับกองทุนรวม Principal Energy and Petrochemical Index Fund (EPIF) และจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ปรับลดลง โดยหลักจากธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ที่เป็นผลจากการปรับลดลงของส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์กับวัตถุดิบส่วนใหญ่ในไตรมาสนี้ รวมถึงธุรกิจการกลั่นที่ผลการดำเนินงานลดลงตาม Accounting GRM ที่ปรับลดจากกำไรจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง รวมถึงต้นทุนน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตาม Crude Premium ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปรับดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แม้ว่าปริมาณการขายจะลดลง ในส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท.ดำเนินการเองและดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ในไตรมาสนี้กลุ่ม ปตท.มีผลกำไรจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ลดลง และมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลดลงของสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
“ในไตรมาสแรกปีนี้ ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย 532,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,175 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือโตขึ้น 4.5% โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ตามราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และ อะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งราคาเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 53.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 63.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือร้อยละ 20.3 “

แต่เมื่อเปรียบกับผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2560 พบว่ากำไรของบริษัทและบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น 4,424 ล้านบาท หรือ 12.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 35,364 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ บมจ.ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ (PTTGM) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

ขณะที่ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมของไตรมาสนี้ลดลง โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ปรับลดจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก และต้นทุนน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตาม Crude Premium ที่สูงขึ้น รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ที่มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ปรับตัวลดลง

แม้ว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะมีผลการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง และผลการดำเนินงานของธุรกิจน้ำมันที่ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นของน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน นอกจากนี้ในไตรมาสนี้กลุ่ม ปตท.มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากการรับ-จ่ายเงินสกุลต่างประเทศตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

โดยในไตรมาส 1/61 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 63.9เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/60 ที่อยู่ที่ 59.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และจากไตรมาส 1/60 ที่อยู่ในระดับ 53.1เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากมาตรการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ non-OPEC อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และความกังวลเกี่ยวกับการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ แม้ว่ากำลังการผลิต shale oil ของสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 นี้ มีแนวโน้มขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส1/2561 จาก เศรษฐกิจจีนท่ีคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากประเด็นปัญหาการค้ากับสหรัฐฯ ที่ทวีความท้าทายขึ้นแม้ว่าจะมีการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตาม ในขณะท่ีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องภายใต้สภาวะ การเงินที่ผ่อนคลาย ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าตลาดแรงงานที่เข้มแข็งและการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวทั้ง จากมาตรการปรับลดภาษีและการปรับเพิ่มเพดานงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มข้ึน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันไปอยู่ที่ระดับ 99.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561

ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาส2/2561 มีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส1 โดยราคา HDPE คาดว่าจะเฉลี่ย อยู่ที่ 1,347 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันจากการกลับมาของอุปทานหลังการซ่อมบำรุงเสร็จส้ินและอุปสงค์ที่ลดลงตามฤดูกาล ในขณะท่ีราคา PP คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ท่ี 1,249 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันจากปริมาณสินค้าคงคลังในระดับสูงและอุปสงค์ที่ลดลง ตามฤดูกาล ราคา เบนซีนคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ท่ี 842 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันจากอุปสงค์ที่ลดลงในช่วงท่ีโรงงานStyrene monomerและPhenol ที่ปิดซ่อมบำรุง และตลาดในจีนที่ยังคงมีอุปทานส่วนเกิน ขณะที่ราคาพาราไซลีนคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 956 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากกำลังการผลิตท่ีขึ้นใหม่ รวม 2 ล้านตันต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น