xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซ ผักผลไม้แพง ดันเงินเฟ้อ เม.ย.เพิ่ม 1.07% สูงขึ้น 10 เดือนติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 1.07% สูงขึ้น 10 เดือนติดต่อกัน และยังเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน เผยเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ผักและผลไม้เป็นหลัก คาดเงินเฟ้อจะขึ้นเกิน 1% ต่อไป หลังน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้น เตรียมประเมินเป้าหมายทั้งปีใหม่เร็วๆ นี้

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย. 2561 เท่ากับ 101.57 เพิ่มขึ้น 1.07% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.45% ส่วนเงินเฟ้อรวม 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.75%

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 1.31% โดยสินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 3.90% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.98% มาจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต หมวดเคหสถาน เพิ่ม 1.50% ค่ารักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.49% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.11% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.68% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผัก เพิ่ม 6.82% ผลไม้ เพิ่ม 0.53% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.24% นอกบ้านเพิ่ม 0.95% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 1.40% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.30%

ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าราคาสูงขึ้นจำนวน 239 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เพิ่ม 2.85% มะนาว เพิ่ม 48.30% พริกสด เพิ่ม 10.61% กะหล่ำปลี เพิ่ม 9.66% ผักคะน้า เพิ่ม 6.33% นมสด เพิ่ม 1.79% ครีมเทียม เพิ่ม 1.66% กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่ม 10.14% กับข้าวสำเร็จรูป เพิ่ม 1.71% ข้าวผัด เพิ่ม 0.84% อาหารโทร.สั่ง เพิ่ม 0.85% อาหารตามสั่ง เพิ่ม 1.72% เครื่องแบบนักเรียนมัธยมชาย เพิ่ม 1.24% เครื่องแบบนักเรียนมัธยมหญิง เพิ่ม 1.31% ค่ากระแสไฟฟ้า เพิ่ม 6.57% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 3.41% ผงซักฟอก เพิ่ม 0.35% บุหรี่ เพิ่ม 12.20% เบียร์ เพิ่ม 1.29% และสุรา เพิ่ม 0.37% ส่วนสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลงมีจำนวน 71 รายการ และสินค้าราคาลดลด 112 รายการ เช่น น้ำมันพืช ลด 13.78% น้ำตาลทรายลด 5.58% น้ำปลาลด 0.21% เป็นต้น

“เงินเฟ้อเดือน เม.ย.ที่เพิ่มขึ้นเกิน 1% ไม่ได้มีผลกระทบมาจากการปรับขึ้นค่าแรงงงานขั้นต่ำ ที่มีผลไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 แต่เป็นผลมาจากการขึ้นราคาของกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม กลุ่มผักสดและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลมากกว่า โดยคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะเกินระดับ 1% ต่อไป เพราะปัจจัยน้ำมันน่าจะเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อตลอดทั้งปี และขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นมาอยู่ที่ 64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว จากเดิมคาดไว้ไม่เกิน 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่ง สนค.กำลังจะทำการประเมินเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ในเร็วๆ นี้” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยังมีจากปัจจัยจากการที่ภาครัฐและเอกชนขยายการลงทุน ทำให้กำลังซื้อมีมากขึ้น และหากสินค้าเกษตรราคาสูงขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก แต่เชื่อว่าราคาสินค้าไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้ซื้อสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ได้มีส่วนช่วยให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง และลดค่าครองชีพได้ โดย สนค.กำลังศึกษาว่าร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ มีส่วนทำให้ราคาสินค้าลดลง และลดค่าครองชีพได้มากน้อยแค่ไหนอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น