xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก มี.ค.ทำนิวไฮ มูลค่าทุบสถิติสูงสุด “พาณิชย์” มั่นใจปีนี้เป้า 8% ทำได้แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส่งออกเดือน มี.ค. มูลค่า 22,236.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่ม 7.06% ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แถมขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ส่วนไตรมาสแรก 62,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.29% สูงสุดรอบ 7 ปี “พาณิชย์” มั่นใจส่งออกยังขาขึ้น เป้า 8% ทำได้แน่ แต่ต้องระวังราคาน้ำมัน บาทแข็ง และสงครามการค้า มีผลกระทบ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือน มี.ค. 2561 มีมูลค่า 22,236.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.06% ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการส่งออก และยังเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.47% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 1,268.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนการส่งออกในช่วง 3 เดือนของปี 2561 (ม.ค.- มี.ค.) มีมูลค่า 62,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.29% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี และการนำเข้ามีมูลค่า 60,872.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16.16% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 1,959.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น มาจากการค้าโลกขยายตัว เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกหลัก เพิ่มขึ้นถึง 8.6% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 11.1% สหภาพยุโรป เพิ่ม 8.7% และญี่ปุ่น เพิ่ม 5.7% ตลาดศักยภาพ เพิ่ม 8.3% ได้แก่ อินเดีย เพิ่ม 21.7% อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 20.7% CLMV เพิ่ม 14% และตลาดศักยภาพรอง เพิ่มขึ้น 5.9% ได้แก่ ตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย รัสเซียและ CIS เพิ่ม 10.6%, 6.2% และ 3.4% ตามลำดับ

“เดือน มี.ค. นี้ ไทยส่งออกไปยังตลาดสำคัญได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นจีน ที่ลดลง 8.7% เพราะปีก่อนฐานสูง และยังมีสาเหตุมาจากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปจีนลดลงตามราคายางพาราในตลาดโลก ขณะที่เครื่องจักรก็ส่งออกได้ลดลง ซึ่งกำลังดูว่าความต้องการลด หรือจีนผลิตได้เอง แต่ในภาพรวม ตลาดส่งออกของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด และตลาดกระจายตัวไปทั่วโลก ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นข้อดีและเป็นผลสำเร็จจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่กระจายตลาดส่งออก” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับการส่งออกสินค้า พบว่า สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 7.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 18.2% น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 49% เม็ดพลาสติก เพิ่ม 15.8% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 19% แต่ทองคำ ลดลง 10.7% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 8.9% ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 3.3% ซึ่งเป็นการลดลงของยางพารา สูงถึง 50.2% น้ำตาลทราย ลด 4.4% แต่มันสำปะหลัง เพิ่ม 24.5% ข้าว เพิ่ม 8.5% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 8.4% ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 6.4%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2561 ยังคงเติบโตได้ดี และยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 8% โดยในช่วง 9 เดือนที่เหลือ หากไทยสามารถส่งออกต่อเดือนได้มูลค่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯขึ้นไป หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเดือนละ 7% จะทำให้การส่งออกไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นมากกว่า 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสมมุติฐานเดิมที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่ง สนค. จะมีการปรับประมาณการน้ำมันอีกครั้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทแข็งค่า มีผลกระทบกระทบต่อรายได้การส่งออก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ส่งออกแล้ว และอยากขอแนะนำให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงค่าเงินที่ยังผันผวน รวมทั้งยังมีเรื่องการกีดกันการค้าจากสถานการณ์สงครามการค้าโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น