xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.เพิ่มขึ้นทุกรายการ หลังราคาเกษตรเริ่มฟื้น ขึ้นค่าแรงทำคนมีรายได้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นทุกรายการ หลังรัฐปรับตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรบางรายการดีขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำทำคนมีรายได้เพิ่ม แต่ยังกังวลด้านการเมืองอีกเล็กน้อย รวมไปถึงราคาเกษตรยังตกต่ำ และสงครามการค้าที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2561 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,241 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 79.9 เพิ่มจาก 79.3 ในเดือน ก.พ. 2561 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 54.5 เพิ่มจาก 53.8 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 90.8 เพิ่มจาก 90.2 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.8 เพิ่มจาก 66.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 74.9 เพิ่มจาก 74.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.0 เพิ่มจาก 97.4

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น มาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เพราะเห็นว่า นโยบายการเงินผ่อนคลายมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2561 เป็น 4.1% จากเดิมคาด 3.9% ขณะที่การส่งออกเดือน ก.พ. 2561 ก็ทำได้มูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.26% ราคาสินค้าทางการเกษตรหลายรายการเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกวันละ 5-22 บาทมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานคาดจะมีรายได้ในอนาคตเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย สะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาไทยมาก

ส่วนปัจจัยลบ ผู้บริโภคยังกังวลเล็กน้อยต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ. 2561 ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเดือน มี.ค. 2561 ลดลงถึง 53.87 จุด ราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ และจับจ่ายใช้สอยน้อย ความกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย และความกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่สูงขึ้น เป็นต้น

“มองว่าความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เพราะปัจจัยลบที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ทำให้กำลังซื้อทรงตัวในระดับต่ำ และกลุ่มผู้ส่งออกที่กังวลเรื่องค่าเงินบาทและสงครามการค้า ที่อาจทำให้การเป็นส่วนหนึ่งของซัปพลายเชนของจีนกระทบ ยังไม่ได้ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นตกลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อีกทั้งผู้บริโภคยังคลายความกังวลเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งลง เพราะเชื่อว่ากลไกต่างๆ จะเป็นไปตามโรดแมปของรัฐบาล” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ไม่คิดว่าสงครามการค้าจะเกิดขึ้น เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณมานานแล้วว่าจะมีมาตรการกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงไทย แต่สำหรับไทย สหรัฐฯ ไม่ได้กดดันอะไรมาก เพราะไม่ได้ตั้งใจที่จะกดดันการค้าและทำให้เศรษฐกิจโลกซึมตัวโดยที่ไม่จำเป็น แต่ที่ดำเนินการกับจีนเพราะเกินดุลการค้ากันมาก และน่าจะหวังผลทางการเมือง โดยมองว่าเป็นการตอบโต้กันปกติตามจังหวะข่าวเพื่อเปิดไปสู่การเจรจา เบื้องต้นจึงยังมองว่าไม่รุนแรง แต่เป็นจิตวิทยาเชิงลบที่ต้องเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลขับเคลื่อนการใช้งบประมาณกลางปี โครงการไทยนิยม ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวเกิน 4.2% และทำให้จีดีพีทั้งปีจะอยู่ที่ 4.2-4.6%

สำหรับบรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คาดว่าน่าจะดีขึ้น ประชาชนมีความตั้งใจที่จะจับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยว ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 100,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3-5%


กำลังโหลดความคิดเห็น