xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค.สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เหตุคนมั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 6 เดือน เหตุคนเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน คาดไตรมาส 4 จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น บวกกับมาตรการชอปช่วยชาติจะเป็นตัวเร่ง ทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.5-2 หมื่นล้านบาท รวมการใช้เงินผ่านบัตรคนจนอีก 2.2.5 หมื่นล้านบาท จะช่วยดันจีดีพีปีนี้ได้อีก 0.1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. 2560 ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,259 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 76.7 สูงขึ้นจาก 75.0 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทย และเป็นจุดเปลี่ยนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 52.0 เพิ่มขึ้นจาก 50.5 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนนับจากเดือน พ.ค. 2560 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 87.2 เพิ่มขึ้นจาก 85.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 64.1 เพิ่มขึ้นจาก 62.5 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 71.4 เพิ่มขึ้นจาก 69.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.4 เพิ่มขึ้นจาก 92.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การส่งออกไทยเดือน ก.ย. 2560 เพิ่มขึ้น 12.22%, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 48.21 จุด, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลง, ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย, การเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลังรัฐบาลประกาศจัดการเลือกตั้งปลายปี 2561 แม้ยังมีปัจจัยลบอยู่บ้าง เช่น น้ำท่วมในหลายพื้นที่, ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพสูง และราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง รวมถึงกังวลปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ที่อาจกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

สำหรับผลสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือน ต.ค. พบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบันอยู่ที่ 77.0 ดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เช่นเดียวกับดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันอยู่ที่ 58.0 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 60.9 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจอยู่ที่ 42.0 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนเช่นกัน

“ดัชนีที่เพิ่มขึ้นเพราะผู้บริโภคมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น และมีความพร้อมจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดในไตรมาส 4 และเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.9% ในปีนี้” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า มาตรการชอปช่วยชาติที่ออกมาในช่วงเดือน พ.ย. จากเดิมที่ออกในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงจับจ่ายปลายปีของผู้บริโภคนั้น คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ 15,000-20,000 ล้านบาท บวกกับการใช้จ่ายผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่คาดว่าในเดือน พ.ย.น่าจะมีเม็ดเงินเข้าระบบ 20,000-25,000 ล้านบาท จะมีผลช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้ 0.1%
กำลังโหลดความคิดเห็น